บทบัญญัติที่ ๑ วิธีทำให้เห็นธรรมกาย

     ทำใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ในกลางศูนย์กำเนิดของกายมนุษย์  ศูนย์นี้  เป็นที่ไปเกิดมาเกิดของสัตว์     อยู่ตรงศูนย์กลางพอดี      ที่ตรงนั้นใจของ  กุมารที่เกิดในท้อง   จรดอยู่เสมอจึงไม่ต้องหายใจ   เพราะถูกส่วนทางมา  เกิดไปเกิด      ใจหยุดตรงนั้นเหมือนกันทุกคน     ถ้าหยุดไม่ถูกส่วนเช่นนั้น   ก็ไม่ถูกทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์

     เมื่อทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ตรงนั้นได้ถูกส่วนแล้ว จะเห็นดวงปฐมมรรค    ซึ่งเรียกว่า    ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน    เพราะเป็นดวงธรรมที่   ทำให้บังเกิดเป็นกายขึ้น      ขนาดของดวงที่ปรากฏนั้น      อย่างเล็กที่สุดก็  เท่ากับดวงดาว  อย่างโตที่สุดขนาดเท่าพระอาทิตย์หรือพระจันทร์  สัณฐาน  กลมรอบตัว   ใสบริสุทธิ์ยิ่งนัก

     เมื่อเห็นชัดเจนดีแล้ว  ก็ทำใจให้นิ่งลงไปกลางดวงใสนั้น   พอถูกส่วนดีแล้วก็จะเห็นกายทิพย์  ปรากฏขึ้นจากกลางว่างของดวงใสที่เห็นแล้วนั้น

     ต่อไปทำใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ในศูนย์กำเนิดของกายทิพย์   พอถูกส่วนดีแล้ว  จะเกิดดวงธรรม (คือดวงกลมใสนั่นเอง)  ดวงนี้คือดวงทุติยมรรค  เมื่อดวงนี้ขยายส่วนโตและเห็นชัดเจนดีแล้ว  ก็ทำใจให้นิ่งลงไปกลางดวงใสนั้น  พอถูกส่วนเข้าก็จะเห็นกายรูปพรหม  ปรากฏขึ้นกลาง

     เหตุว่างของดวงทุติยมรรคนั้น   ต่อไปทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ในศูนย์กำเนิดของกายรูปพรหม  พอถูกส่วนดีแล้ว  จะเกิดดวงธรรมขึ้นกลางศูนย์กำเนิดของกายรูปพรหมนั้น  ดวงนั้นคือดวงตติยมรรค  เมื่อขยายส่วนโตขึ้นและชัดเจนดีแล้ว  ก็ทำใจให้นิ่งลงไปกลางดวงใสนั้นอีก  พอถูกส่วนเข้าก็จะเห็นกายอรูปพรหม  ปรากฏขึ้นในกลางเหตุว่างของดวงตติยมรรคนั้น

     แล้วทำใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ในศูนย์กำเนิดของกายอรูปพรหม  พอถูกส่วนดีแล้ว  จะเกิดดวงธรรมขึ้นกลางศูนย์กำเนิดของกายอรูปพรหมนั้นดวงนี้คือดวงจตุตถมรรค  เมื่อขยายส่วนโตขึ้นและชัดเจนดีแล้ว  ก็ทำใจให้นิ่งลงไปกลางดวงใสนั้นอีก  พอถูกส่วนเข้าก็จะเห็นกายของธรรมกายปรากฏขึ้นในกลางเหตุว่างของดวงจตุตถมรรคนั้น

*******************

อธิบายการเดินวิชา

      การฝึกลำดับที่  ๑ นี้ ต้องทบทวนการปฏิบัติจากบทที่แล้วคือบทที่ว่าด้วยเรื่องเริ่มทำสมาธิ   ในบทนั้นต้องยุติว่า ท่านภาวนา สัม มา อะ ระ หัง  จนถึงขั้นเห็นดวงธรรมแล้ว   คือเห็นดวงปฐมมรรค (ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ในท้องของตนแล้ว  คือเห็นดวงแก้วขาวใสที่ศูนย์กลางกายของตนแล้ว   บทนี้จะเป็นบทฝึกลำดับที่ยากขึ้น

     ตามตัวบทบัญญัติที่คัดมานั้น  บทนี้ให้ท่านฝึกทำวิชา  เพื่อเกิดความกระจ่างแจ้ง  ในเรื่องต่อไปนี้

     ๑. เหตุใดกุมารในท้องจึงไม่หายใจ

     ๒.ขนาดของดวงธรรม คือดวงปฐมมรรค  มีขนาดไม่เท่ากัน

     ๓.เห็นกายทิพย์  กายรูปพรหม การอรูปพรหม และกายธรรม คือธรรมกายเบื้องต้น

     เรื่องกุมารไม่หายใจเนื่องจากเอาใจจรดอยู่ที่ดวงธรรมของกายมนุษย์ของมารดานั้น  ความรู้ในคู่มือสมภารบอกว่า  ใจของกุมารจรดอยู่ที่ศูนย์กลางกายของมารดา   คือจรดอยู่กับดวงธรรมของมารดา คืออยู่ที่ฐานที่  ๗  กุมารไม่หายใจ ความจริงกุมารหายใจ  เป็นการหายใจอย่างละเอียดอ่อน  ประหนึ่งว่าไม่หายใจเพราะที่นี่เป็นที่เกิด  ดับ  หลับ  ตื่น การมาเกิดของสัตว์โลกเกิดที่จุดนี้เริ่มที่นี่  การเกิดธรรมก็เกิดที่นี่ การดับคือตาย หรือเรียกว่าไปเกิด   ใจของสัตว์โลกจะต้องมาหยุดตรงฐานที่ ๗  ก่อนแล้วถอยหลังมาฐานที่  ๖  -  ๕  -   ๔  - ๓ พอมาถึงฐานที่   ๓  คือจอมประสาท  คนไข้จะทำตาขาวๆ คือตาเหลือก  (เหลือบ) เหมือนคนเป็นลม  จากนั้นไปเพลาตา (ฐานที่ ๒)  ออกปากช่องจมูก  (ฐานที่ ๑)   เพื่อทิ้งร่างกายมนุษย์  จากนั้นกายฝัน  (กายมนุษย์ละเอียด)จะไปแสวงหาภพเกิดใหม่  ตามบุพกรรมของตนต่อไป   คราวนี้มาถึงเรื่องหลับ  ใจของเราหยุดที่ฐานที่ ๗  ก่อน  แล้วจึงหลับ และการตื่นจากหลับก็จุดเดียวกัน

เรื่องขนาดของดวงธรรม

     คนเรามีขนาดดวงธรรมไม่เท่ากัน   อย่างเล็กเท่าดวงดาวอย่างใหญ่ไม่เกินดวงจันทร์และดวงอาทิตย์  คนดวงธรรมใหญ่คือผู้มีบารมีธรรมสูง หมายความว่า ได้สร้างสมอบรมบารมีมาแต่อดีตมากมาย

     ทราบมาว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำ  จะใช้ใครทำวิชาธรรมกายท่านจะตรวจดูธาตุธรรม คือถ้าใครดวงธรรมใหญ่และสะอาด  ผู้นั้นจะค้นวิชาได้เหตุได้ผล   หากดวงธรรมขนาดย่อม  จะยังไม่ถึงขั้นค้นวิชาได้ รู้ญาณทัสสนะยังไม่ถึงขั้นเห็นแจ้ง  เพียงแต่ว่าพอทำได้พอสืบต่อวิชาได้

     พวกเราวิจารณ์กันมากว่า   คนโน้นเก่ง   คนนี้ไม่เก่ง   เรื่องนี้ผมดูมานานแล้ว

      เราต้องยอมรับว่า    เรามีบารมีไม่เท่ากันและบารมีต่างกัน    ท่านที่หาเหตุผลได้    มักไม่ตรัสรู้    ท่านที่ตรัสรู้เก่ง    แต่ไม่ได้เหตุผล   จะเอาอะไรๆให้เป็นที่พอใจทุกอย่าง ย่อมเป็นไปไม่ได้  จะเอาอะไรเด่นไปทุกด้าน   ดูจะยาก

      แม้พระศาสดาของเราเองทรงตรัสรู้รอบด้าน  แต่มารเขาก็เอาศาสดาระดับสูงของมารมาประกบ  ตั้งแต่เริ่มสร้างบารมีจนได้ตรัสรู้   สู้รบตบมือกันมาตลอด  ผมมาทราบเรื่องก็ตอนที่ทำวิชาปราบมารนี้เอง

     ดังนั้น ผมอยากวิจารณ์ไว้ทุกเรื่อง เรื่องใดที่ผมรู้เห็นมากก็พูดได้มาหน่อย   เรื่องใดรู้เห็นน้อย  ก็จะพูดแต่พอสมควรเพราะได้เรียนวิชาธรรมกายมาจนถึงขั้นปราบมาร  จะไม่แสดงความเห็นไว้เลย  ย่อมเป็นการไม่ชอบ  การกระทำเช่นนั้นไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ศึกษาค้นคว้า

เรื่องทำวิชาให้เห็นกายทิพย์   กายพรหม

กายอรูปพรหม   กายธรรม

     การเดินวิชา  ถ้าทำตามที่กล่าวไว้ในบทบัญญัติ  ดูจะยากไป   เพราะการทำใจหยุดทำใจนิ่ง  เป็นเรื่องยาก  ใจเราจะหยุดและนิ่งตามที่ตำราว่าไว้นั้น  เป็นเรื่องยากมาก   ต้องใช้ความรู้เสริม  เพื่อช่วยให้การฝึกได้ผลเร็วขึ้น  ความรู้นี้เกิดจากประสบการณ์ที่ได้ไปถวายความรู้แก่พระสงฆ์หลายปี  ทำอย่างไรจึงจะทำวิชาได้เร็ว  เป็นปัญหาที่ผมแก้ไม่ตก  ต่อเมื่อนึกถึงความรู้ที่ว่า  “สิทธิ   และ   เฉียบขาด”  ฝ่ายใดใช้ก่อน ฝ่ายนั้นชนะปกติเราต้องการให้ใจหยุด  ต้องการให้ใจนิ่ง   มารเขาก็จะเอาส่าย  ไหว  ริบ   รัว   มาใส่  เป็นผลให้ใจเราหยุดช้า  นิ่งช้า ดังนั้นจึงกำหนดให้ปฏิบัติ  แบบท่องไป ทำไป ถ้าใจไม่ท่อง  ธรรมภาคบุญปล่อยสิทธิและเฉียบขาดไม่ได้  เพราะมารเขาขวางอยู่แล้ว จึงให้ปฏิบัติดังนี้

      (๑.)ไม่ว่าเดินวิชาอะไร     ให้บริกรรมในใจ     หยุดในหยุดๆๆ    นิ่งในนิ่งๆๆ   ใสในใสๆๆ   ตลอดเวลา

      (๒.)เมื่อใจท่อง    ใจทำงานไปตามที่ท่อง      สังเกตวิชาไปทุกขั้นตอน    อย่าเผลอ    ควบคุมสติให้มั่นคง

      เมื่อได้หลักเช่นนี้แล้ว ต่อไปนี้การเดินวิชาของเราจะง่ายขึ้น  ดังนั้นจึงขอกำชับให้จำหลักเกณฑ์อันนี้ไว้  ในบทต่อๆไปจะไม่กล่าวถึง  ถือว่าเข้าใจแล้ว เป็นความรู้พื้นฐานสำคัญมาก

แนวเดินวิชาเพื่อให้เห็นกายทิพย์

     ส่งใจนิ่งไปตามฐานต่าง  ๆ ของกายรวม  ๗  ฐาน  คือปากช่องจมูก (หญิงซ้าย    ชายขวา) บริกรรมใจหยุดในหยุดๆๆนิ่งในนิ่งๆๆ  เลื่อนไปที่เพลาตา (หญิงซ้าย ชายขวา) บริกรรมใจหยุดในหยุดๆๆ  นิ่งในนิ่งๆๆ  เลื่อนไปที่จอมประสาท  ทำเหลือกตาช้อนตากลับ  เข้าไปที่จอมประสาท  อยู่ในกะโหลกศีรษะบริกรรมใจหยุดในหยุดๆๆ   นิ่งในนิ่งๆๆ  แล้วจงลืมเรื่องการเหลือกตาโดยทันที หลังจากนั้น เลื่อนใจไปที่ปากช่องเพดานบริกรรมใจหยุดในหยุดๆๆ  นิ่งในนิ่งๆๆ  แล้วจงลืมเรื่องการเหลือกตาโดยทันที      หลังจากนั้น  เลื่อนใจไปที่ปากช่องเพดานบริกรรมใจหยุดในหยุดๆๆ  นิ่งในนิ่งๆๆ  จากนั้น  เลื่อนใจไปที่ปากช่องลำคอ  บริกรรมใจหยุดในหยุดๆๆ  นิ่งในนิ่งๆๆ  จากนั้นเลื่อนใจไปที่ฐานของศูนย์กลางกาย ให้ได้ระดับเดียวกับสะดือสมมุติว่ามีเข็มร้อยด้าย          แทงจากสะดือตัวเองเป็นเส้นตรงทะลุข้างหลัง  อีกเส้นหนึ่ง สมมุติแทงจากสีข้างขวาไปซ้าย  เห็นเป็นมโนภาพว่า ในท้องเรานี้มีเส้นด้ายตัดกัน  ๒  เส้น  เป็นรูปกากบาท ตรงจุดตัดของเส้นด้ายคือฐานที่ ๖ (หลวงพ่อเคยเรียกกลางกั๊ก โบราณเรียกว่าสิบ)      ส่งใจนิ่งลงไปที่ฐานที่ ๖  บริกรรมใจหยุดในหยุดๆๆ  นิ่งในนิ่งๆๆ  จากนั้น  เลื่อนไปศูนย์กลางกายคือฐานที่  ๗  ซึ่งเป็นศูนย์กลางกายถาวร  นั่นคือ  นึกยกใจให้สูงขึ้นมาจากเส้นด้ายตัดกันประมาณ  ๒ นิ้วมือตัวเอง  จากนั้นบริกรรมใจหยุดในหยุดๆๆ นิ่งในนิ่งๆๆ  แล้วจะเห็นดวงธรรมใสสว่างโชติ  เรียกว่าดวงปฐมมรรค หรือดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

     จากนั้น  ส่งใจนิ่งลงไปที่ดวงธรรมนั้น  บริกรรมใจหยุดในหยุดๆๆ นิ่งในนิ่งๆๆ แล้วจะเห็นกลางหรือเรียกว่ามัชฌิมา ปฏิปทา   หรือเอกายนมรรค เป็นจุดขาวใสเท่าปลายเข็ม

     จากนั้น  ส่งใจนิ่งลงไปที่จุดใสเท่าปลายเข็ม ซึ่งอยู่กลางดวงธรรมนั้น บริกรรมใจหยุดในหยุดๆๆ  นิ่งในนิ่งๆๆ  แล้วจุดใสเท่าปลายเข็มจะว่างและหายไป   ในว่างใสนั้น  ท่านจะเห็น  “กายทิพย์”  ของท่านเอง   รูปร่างหน้าตาเหมือนตัวท่านแต่งกายเหมือนตัวละคร   ตามเนื้อตามตัวเป็นเพชรนิลจินดา ถ้ารูปร่างไม่เหมือนท่าน ถือว่าใช้ไม่ได้ ต้องทำใหม่ จนกว่าจะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนตัวท่าน  ถ้าท่านเป็นชาย  กายทิพย์จะบ่งว่าเป็นเทพบุตร   และหากท่านเป็นหญิง กายทิพย์จะบ่งว่าเป็นเทพธิดา

แนวเดินวิชาเพื่อให้เห็นกายพรหม

      กฎเกณฑ์ที่ต้องจำ  ก็คือ การเดินใจเข้าหากายมีวิธีอย่างไร  และกฎเกณฑ์การบริกรรมมีวิธีอย่างไร  ต้องจำให้แม่นยำ     เพราะจะต้องใช้ตลอดไป   หากไม่ทราบกฎเกณฑ์ตาม ที่กล่าว แปลว่าเหลวทุกเรื่อง

     (๑.)การเดินใจเข้าหากาย   จะต้องเดินใจไปตามฐาน  ๗  ฐานเสมอไป  เว้นแต่เกิดความชำนาญแล้ว  การเดินใจเข้าหากายจะใช้วิธีลัดเพียงเดินใจเข้าปากช่องจมูกเพลาตา จอมประสาท  ผ่านปากช่องลำคอแล้วไปฐานที่  ๗  เลยก็ได้

     (๒.) การบริกรรมใจหยุดในหยุดๆๆ นิ่งในนิ่งๆๆ  ให้บริกรรมไปจนกว่าจะเห็นดวงธรรม  และเมื่อเห็นดวงธรรมแล้วบริกรรมใจหยุดในหยุดๆๆ   นิ่งในนิ่งๆๆ  ลงไปที่กลางของดวงธรรม    จนกว่าจะเห็น    “จุดใสเท่าปลายเข็ม”    ซึ่งอยู่กลางดวงธรรม    และเมื่อเห็นจุดใสเท่าปลายเข็มแล้ว     บริกรรมใจหยุดในหยุดๆๆ   นิ่งในนิ่งๆๆ  ลงไปที่จุดใสเท่าปลายเข็มนั้น  จนกว่าจุดใสเท่าปลายเข็มจะว่างและหายไป        แล้วเราจะเห็นกายในว่างใสนั้น    ขั้นตอนนี้มี  ๓  ขั้นตอนคือขั้นเห็นดวงธรรม   ขั้นเห็นจุดใสเท่าปลายเข็ม   และขั้นเห็นกายในว่างใส

     การเดินวิชาเพื่อให้เห็นกายพรหม  ก็คือ ส่งใจนิ่งลงไปที่ศูนย์กลางกายของกายทิพย์นั้น ตามวิธีการที่กล่าวแล้ว เมื่อเห็นดวงธรรมในท้องของกายทิพย์แล้ว   อธิษฐานใจให้กายทิพย์นั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย  มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายตรงจากนั้นเดินวิชาด้วยการบริกรรม  ดังกล่าวนั้น  ก็จะเห็นกายพรหม  รูปร่างหน้าตาเหมือนท่าน  แต่งตัวเหมือนตัวละครแต่ไม่บ่งว่าเป็นหญิงหรือชาย  มีรัศมีสว่างกว่ากายทิพย์

แนวเดินวิชาเพื่อให้เห็นกายอรูปพรหม

      ส่งใจนิ่งลงไปที่ศูนย์กลางกายของกายพรหม  เมื่อเห็นดวงธรรมแล้ว  อธิษฐานใจให้กายพรหมนั่งสมาธิ  และเดินวิชาตามวิธีการดังกล่าวนั้น   ก็จะเห็นกายอรูปพรหม รูปร่างหน้าตาเหมือนตัวท่าน แต่งตัวเหมือนตัวละคร รัศมีสว่างกว่ากายพรหมแต่ไม่บ่งว่าเป็นหญิงหรือชาย

แนวเดินวิชาเพื่อให้เห็นกายธรรม

ส่งใจนิ่งลงไปที่ศูนย์กลางกายของกายอรูปพรหม   เมื่อเห็นดวงธรรมแล้ว  อธิษฐานใจให้กายอรูปพรหมนั่งสมาธิ และเดินวิชาตามวิธีการที่กล่าวแล้ว  ก็จะเห็นกายธรรมหรือเรียกว่า ”ธรรมกาย”  เป็นพระพุทธรูปขาวใสเกตุบัวตูม  นั่งขัดสมาธิตัวเราหันหน้าไปทางใด  องค์พระก็หันพระพักตร์ไปทางนั้นขนาดของธรรมกายเบื้องต้น  ถ้าหน้าตักกว้าง ๕วา (ไม่เต็มส่วน)สูง ๕ วา (ไม่เต็มส่วน)  ก็เป็นธรรมกายโคตรภู  แต่ถ้าขนาดหน้าตัก  ๕  วา  สูง ๕  วา ก็เป็นธรรมกายพระโสดา  และถ้า ๑๐ วา ก็เป็นธรรมกายพระสกิทาคามี

สรุปการฝึกบทนี้

     (๑) ถือว่าเป็นบทฝึกเบื้องต้น   ต้องทำให้ชำนาญ  จนกว่ากายจะขาวใสเป็นแก้วหรือเป็นเพชร    จึงจะใช้ได้      ถ้าดวงธรรมไม่ใส ทำให้กายไม่ใส การฝึกบทต่อไปไม่เป็นผลดี ต้องทบทวนหลายเที่ยว

     โปรดทบทวนกฎเกณฑ์ให้เข้าใจ    และจำได้   เพราะจะ ต้องนำไปใช้ในบทฝึกอื่น ๆ

     (๒) เหตุที่กายพรหมและกายอรูปพรหม   ไม่บ่งลักษณะหญิงชาย ก็เพราะว่าไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม หากเดินวิชาจนกายใสเป็นเพชร   เราจะเห็นแผ่นขาวใสกลมที่ก้นกาย   นั่นคือฌานของเขาฌานคือพาหนะของกาย   ช่วยให้กายไปไหน  ๆ   ได้      อรูปพรหมแปลว่าละเอียดกว่าพรหม  อย่าไปแปลว่าพรหมไม่มีรูป อย่าไปแปลคำว่า  “อะ”  แปลว่าไม่

     (๓)ชื่อของดวงธรรมใช้ว่า   ปฐมมรรค  ทุติยมรรค  ตติยมรรค  จุตตถมรรค เป็นคำบาลี  ได้แก่ดวงธรรมประจำกายดวงธรรมของกายมนุษย์เรียกปฐมมรรค  ดวงธรรมของกายทิพย์เรียกทุติยมรรค  ดวงธรรมของกายพรหมเรียกตติยมรรค ดวงธรรมของกายอรูปพรหมเรียกจตุตถมรรค  จะเรียกอย่างไรไม่สำคัญ  เป็นดวงธรรมของกาย  เราก็เข้าใจ หากไม่กล่าวไว้เกรงว่าท่านผู้ศึกษาจะเกิดความข้องใจ  ยุติว่าเป็นดวงปฐมมรรคหรือเรียกเป็นบาลีว่า  ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานของกาย

 

บางส่วนจากหนังสือแนวเดินวิชาหลักสูตรคู่มือสมภารของหลวงพ่อวัดปากน้ำ  หน้า 29  :  อ่านทั้งหมด | หน้าแรก