ชื่อหนังสือ “คู่มือสมภาร”

หนังสือของใคร

      เป็นหนังสือของหลวงพ่อวัดปากน้ำ (พระมงคลเทพมุนี สดจนฺทสโร)  ตั้งแต่ครั้งมีสมณศักดิ์เป็นพระครูสมณธรรมสมาทาน

เป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไร

      เป็นหนังสือวิชาธรรมกายชั้นสูง  แสดงแนวปฎิบัติของความรู้วิชาธรรมกายแต่ละเรื่อง  รวม ๑๕ บท  กับอีกหนึ่งหัวข้อเรื่อง

ใครเขียน

      เขียนในนามของ  น.ส.ฉลวย  สมบัติสุข  ซึ่งท่านผู้นี้เป็นศิษย์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ  ขณะนั้นได้ศึกษาเล่าเรียนทที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ

เขียนเมื่อไร

      เขียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๒

จำนวนหนังสือที่พิมพ์

      เป็นหนังสือขนาดเล็กรวม ๕๗ หน้า  พิมพ์จำนวน  ๒๕,๐๐๐ ฉบับ  ที่โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย  หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร  ถนนพระสุเมรุ  กรุงเทพมหานคร  พิมพ์เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๒

เขียนเพื่ออะไร

      เขียนขึ้นตามบัญชาของ  สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  วัดบวรนิเวศวิหาร  ซึ่งสมเด็จฯทรงรับสั่งให้เขียนเนื้อวิชาธรรมกายที่หลวงพ่อวัดปากน้ำสอนนั้น  มีเนื้อวิชาและแนวปฎิบัติอย่างไร (รับสั่งแก่คุณนวรัตน์  หิรัญรักษ์) 

ปกของหนังสือคู่มือสมภาร

      ปกเป็นภาพธรรมกาย  เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ  เกตุบัวตูม  เท้าขวาทับเท้าซ้าย  มีรัศมีรอบองค์  ใต้องค์พระเขียนว่า  “นี่คือธรรมกาย”  และมีข้อความบรรยายว่า “วักกลิภิกขุ  จงถอยออกไปจะมาดูใย  ร่างกายตถาคตเป็นของเปื่อยเน่า  ผู้ใดเห็นธรรม  ผู้นั้นเห็นเราผู้ตถาคต  เราผู้ตถาคตคือธรรมกาย”  ใต้ข้อความดังกล่าวเป็นชื่อหนังสือ  “คู่มือสมภาร”

มูลเหตุที่มาของการเขียนหนังสือคู่มือสมภาร

      เหตุเกิดจาก  คุณนวรัตน์  หิรัญรักษ์  ศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ  ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า  ที่วัดบวรนิเวศวิหาร  เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๙๐ (โดยคุณผัน  ณ นคร  เป็นผู้นำเข้าเฝ้า)  สมเด็จฯทรงรับสั่งถามคุณนวรัตน์  หิรัญรักษ์  ว่าปฎิบัติธรรมกับหลวงพ่อวัดปากน้ำ  ภาษีเจริญ  นั้น  มีแนวปฎิบัติอย่างไรได้รู้เห็นอะไรมาบ้าง  คุณนวรัตน์  หิรัญรักษ์  ก็ได้กราบทูลไปตามความรู้ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำสอน  ปรากฎว่าเป็นที่สนพระทัยของสมเด็จฯ  สมเด็จฯทรงบัญชาให้คุณนวรัตน์  หิรัญรักษ์  เขียนแนวปฎิบัติและเนื้อวิชามาให้ดู

      ครั้นคุณนวรัตน์  หิรัญรักษ์  กลับไปถึงวัดปากน้ำแล้ว  ได้นำเรื่องราวกราบเรียนให้หลวงพ่อวัดปากน้ำทราบ  เพื่อจะพิมพ์ตำราวิชาธรรมกายถวายสมเด็จพระสังฆราชเจ้าต่อไป  เพราะเป็นบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า  จะไม่ทำไม่ได้ 

       ศิษย์ที่รวบรวมความรู้พิมพ์เป็นหนังสือคู่มือสมภาร  มี ๓ ท่านคือ

๑. อุบาสิกานวรัตน์   หิรัญรักษ์

๒. อบาสิกาสมทรง   สุดสาคร

๓. น.ส.ฉลวย  สมบัติสุข

      ผู้เขียนรู้จักท่านเดียว  คือคุณฉลวย  สมบัติสุข  ตอนนั้นผู้เขียนได้ไปศึกษาวิชาธรรมกายกับ  อุบาสิกาทองสุข   สำแดงปั้น  ที่วัดปากน้ำ  ภาษีเจริญ  ได้มีโอกาสรู้จักกับ  คุณฉลวย  สมบัติสุข  จากการแนะนำของอุบาสิกาทองสุข   สำแดงปั้น  เนื่องจากคุณฉลวย   สมบัติสุข   ยังศึกษาวิชาธรรมกายอยู่ที่วัดปากน้ำ  มีความคุ้นเคยกับแม่ชีทองสุข   สำแดงปั้น  เป็นพิเศษ  ผู้เขียนเคยถามความรู้จากคุณฉลวย   สมบัติสุข  และเคยให้ท่านช่วยความรู้ทางวิชาธรรมกายอีกด้วย  ตอนนั้นคุณฉลวย  สมบัตสุข  ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางวิชาธรรมกาย

สมเด็จพระสังฆราชไม่ได้ทรงอ่านคู่มือสมภาร

      เมื่อพิมพ์หนังสือ  “คู่มือสมภาร”  เสร็จแล้ว  ได้นำถวายแด่สมเด็จฯ  แต่บังเอิญทรงประชวร  นายแพทย์ห้ามใช้ความคิด  สมเด็จฯทรงมอบหมายให้  “พระสาธุศีลสังวร” (สนธิ์  กิจฺจกาโร)  เป็นผู้พิจารณาหนังสือคู่มือสมภารแทนพระองค์  ดังมีข้อความปรากฎในคำนำของหนังสือคู่มือสมภารนั้น

      ท่านเจ้าคุณพระสาธุศีลสังวร  เลขานุการของสมเด็จฯ  ได้อ่านหนังสือคู่มือสมภารและพิจารณาแล้ว  และได้เขียนผลการพิจารณาตามที่ปรากฎในคำนำหนังสือคู่มือสมภาร  สารสำคัญคือเรื่องนิพพาน  หนังสือคู่มือสมภารยังคัดคำบาลีมาเขียนไม่ครบท่านเจ้าคุณพระสาธุฯ  ได้เพิ่มคำบาลีเรื่องของนิพพานเพิ่มให้อีก  ท่านเจ้าคุณพระสาธุศีลสังวร  เป็นชาวอินเดีย  มาบวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร  มีความสันทัดในเรื่องบาลี  สาระสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ  ข้อความที่ว่า  “ขอผู้ได้รับหนังสือนี้ไปอ่าน  จงพิจารณาและปฎิบัติตามสมควร”  คือพูดอย่างคนที่อ่านบาลีมาหลายประโยค  จะต้องพบความรู้ต่างๆ  ตามเนื้อหาสาระในหนังสือคู่มือสมภาร  ว่าถูกต้องแล้ว  จึงให้เราปฎิบัติตาม

กิตติศัพท์ของพระสาธุศีลสังวร

      จะเป็นเพราะอะไรไม่ทราบ  ผู้เขียนเคยรับราชการเป็นครูอยู่ในโรงเรียนวัดบวรนิเวศ  ตั้งแต่ปี  ๒๕๐๑-๒๕๐๙  ช่วงเวลาดังกล่าวนี้  สมเด็จพระสังฆราชเจ้าได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว  และสมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน  ขณะนั้นยังมีสมณศักดิ์เป็นพระศาสนโสภณ  โดยเหตุที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศกับวัดบวรนิเวศอยู่ติดกัน  ได้ยินกิตติศัพท์ของพระสาธุศีลสังวร  แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร  ว่าเป็นชาวอินเดีย  มีความรู้ทางคำบาลีอย่างมากเคร่งครัดในระเบียบวินัย  แม้แต่นักเรียนยังเกรงกลัว

      เวลานักเรียนจะชกกัน  มักชวนกันไปที่หลังวัด  ขณะที่จะชกกันนั้น  มักเป็นเวลาที่พระสาธุศีลสังวรเดินผ่านมา  ท่านเจ้าคุณพระสาธุฯจะถามว่า “สิกไก๋”  พอคำว่า “สิกไก๋”  ดังออกไป  นักเรียนที่จะชกกัน  ต่างพากันวิ่งหนีไปคนละทาง  เป็นอันว่าไม่ได้ชกกัน

       คำว่า “สิกไก๋”  ก็คือคำ “ศิษย์ใคร”  หมายความว่าเป็นลูกศิษย์ใคร  ท่านเจ้าพระคุณพระสาธุฯ  พูดไทยไม่ชัด  เพราะท่านเป็นอินเดีย  หากพูดคำว่า “สิกไก๋”  ย่อมหมายถึงท่านเจ้าคุณพระสาธุศีลสังวร  นักเรียนที่จะนัดไปชกกันก็ดีและที่จะคิดหนีเรียนก็ดีจะเกรงท่านเจ้าคุณฯมากกว่าเกรงครูอาจารย์  ถ้าพบนักเรียนรุ่นเก่าเขามักจะมีเรื่องราวของท่านเจ้าคุณฯคุยให้ฟัง  ล้วนแต่เคารพและยำเกรงท่านทั้งนั้น

ผลที่ตามมาหลังจากการออกหนังสือคู่มือสมภาร

       คำว่า  “ธรรมกาย”  เป็นคำที่เราไม่ค่อยได้ยิน  แม้เราจะเรียนบาลีจนจบประโยคสูงๆ  พบในตำรา  แปลกันแล้วก็เพียงแต่ผ่านไป  เพราะเป็นภาษาหนังสือ  แปลกันแล้วก็แล้วกันไป  ไม่ช้าไม่นานก็ลืมคำว่า “ธรรมกาย”  ไปเสียสิ้นยิ่งชาวบ้านหรือคนทั่วไปไม่ได้ยินคำว่า  “ธรรมกาย”  เอาเสียเลย  ได้ยินได้ฟังกันก็แต่ในหมู่นักเรียนนักศึกษาบาลีประโยคสูงๆ เท่านั้น

      ในปี  ๒๔๙๒  หนังสือคู่มือสมภารออกสู่ตลาดของนักปฎิบัติพัฒนาใจ  ทำให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตค้นคว้าตำรากันอีกครั้งหนึ่งว่า  คำ  “ธรรมกาย”  นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร  พบแล้วจึงเชื่อว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำบรรลุธรรมชั้นสูงจริง  จึงได้มีการเรียนวิชาธรรมกายกันอย่างกว้างขวาง  นับวันมีแต่จะกว้างขวางยิ่งขึ้น  ไปที่ไหนเห็นแต่เรียนวิชาธรรมกายกันทั้งนั้น  เพราะปกหนังสือคู่มือสมภารเขียนว่า  “วักกลิภิกขุ  จงถอยออกไป  จะมาดูใย  ร่างกายตถาคต  เป็นของเปื่อยเน่า  ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราผู้ตถาคต  เราผู้ตถาคต  คือธรรมกาย”

      ไม่ว่าใคร  อยากเห็นพระพุทธเจ้าด้วยกันทั้งนั้น

      อยากเห็น  ก็ต้องเรียน  เรียนจากหนังสือคู่มือสมภาร

      ตัวผู้เขียนเองเรียนวิชาธรรมกายมานานแล้ว  แต่ยังไม่เป็น  แม้ยังไม่เป็น  เขาก็มาเกณฑ์ไปสอน  เพราะเขาทราบว่าผู้เขียนเคยเรียนมาแล้ว  อย่างน้อยก็แนะนำแนวปฎิบัติเบื้องต้นให้เขาฟังได้บ้าง  ในที่สุด  ผู้เขียนเองก็สอนด้วยและเรียนฝึกพร้อมกันกับผู้เรียนใหม่  ผู้เขียนเลยเป็นธรรมกายเอาตอนนั้น  แต่ก็ยังเห็นๆหายๆ  เห็นบ้างไม่เห็นบ้าง  นี่คือผลจากการออกหนังสือคู่มือสมภาร  ท่านผู้อื่นมีความเห็นประการใด  แต่ตัวข้าพเจ้าประสบมาอย่างนี้

      ชีวิตของข้าพเจ้าตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้  ยุ่งอยู่กับวิชาธรรมกายมาตลอด  ไม่อยากสอนก็มีคนมาเกณฑ์ให้ไปสอน  เขียนตำรานั้นทำไม่เป็น  ก็มีคนมาเกณฑ์ให้ทำ  ชีวิตราชการของข้าพเจ้า  ใกล้จะเกษียณราชการวันนี้วันพรุ่งนี้  ก็มีคนมาถามความรู้ทางวิชาธรรมกาย  มีคนไปให้แก้โรค  ให้ทำคำอธิบายวิธีปฎิบัติที่เข้าใจง่าย  เพราะอ่านหนังสือของหลวงพ่อวัดปากน้ำแล้ว  ไม่รู้จะทำอย่างไรหลวงพ่อท่านทำได้  แต่เราทำไม่ได้  เพราะปัญญาคนละชั้นนั่นเอง  แต่อยากทำให้ได้อย่างที่หลวงพ่อท่านสอนไว้ในคู่มือสมภาร  ข้าพเจ้าจึงกลืนไม่เข้าและคายไม่ออก  คือไม่เป็นก็ต้องเป็น  ไม่ได้ก็ต้องได้  เหตุใดข้าพเจ้าจึงเกิดมารับใช้เขาในทางวิชาธรรมกายก็ไม่รู้  หากเราสันทัดก็ไม่สู้กระไร  แต่ความรู้ของข้าพเจ้าขาดๆ เกินๆ  แต่ไหนแต่ไรก็เป็นอย่างนี้  รอให้รู้จริงแล้วค่อยมาพูดกัน  เห็นจะทำอย่างนั้นไม่ได้เสียแล้ว

      เพราะจะต้องมีเหตุการณ์อะไรต่างๆ  มาบังคับให้ข้าพเจ้าให้ไปยุ่งกับวิชาธรรมกาย  ไม่อย่างใดก็อย่างใดเสมอมา  เข้าทำนองไม่มีไก่ก็เอาเป็ดไปขันแทน  จนในที่สุดต้องทำวิชาปราบมาร  ทั้งๆที่ไม่รู้เรื่องวิชาปราบมารมาก่อนเลย  ท่านคงเคยอ่านหนังสือปราบมารของข้าพเจ้าแล้ว  หากยังไม่ได้อ่านลองคิดดู  เป็นเรื่องอัศจรรย์ไม่เคยพบไม่เคยเห็นมาก่อน

หลักสูตรคือเนื้อหาสาระในคู่มือสมภารมีอะไรบ้าง

      หลักสูตรคือเนื้อหาสาระในคู่มือสมภาร  มี ๑๕ บทกับอีกหนึ่งหัวข้อเรื่อง  ดังนี้

(๑.) วิธีทำให้เห็นธรรมกาย

(๒.) วิธีดูดวงธรรมของกายโลกีย์  และดูดวงธรรมของกายธรรม

(๓.) วิธีทำฌาณโดยใช้กายธรรม  และวิธีดูอริยสัจ ๔

(๔.) วิธีเดินสมาบัติในกสิณ  ดูภพอสูรกาย  เปรต  เดียรัจฉาน  นรก  โลกัณฑ์  ทิพย์  พรหม  อรูปพรหม

(๕.) วิธีดูปุพเพนิวาสญาณ  และดูจุตูปาตญาณ

(๖.) วิธีดูภพ ๓  ดูอสูรกาย  เปรต  เดียรัจฉาน  นรก  โลกัณฑ์  ทิพย์  พรหม  อรูปพรหม  อายตนะนิพพาน

(๗.) วิธีดูกายสุดละเอียดและดูกายสุดหยาบ

(๘.) วิธีนับกายเป็นอสงไขย

(๙.) วิธีดูดวงเห็น  ดวงจำ  ดวงคิด  ดวงรู้

(๑๐.) วิธีทำอายตนะให้เป็นทิพย์ในธรรม

(๑๑.) วิธีดูดวงบุญ  ดวงบาป  ดวงไม่บุญไม่บาป  (ธรรมภาคกลาง)

(๑๒.) วิธีตรวจบารมี ๑๐ ทัศ  อุปบารมี ๑๐ ทัศ  ปรมัตถบารมี ๑๐ ทัศ

(๑๓.) วิธีเข้านิพพานตาย (อนุปาทิเสสนิพพาน)  วิธีเข้านิพพานเป็น (สอุปาทิเสสนิพพาน)

(๑๔.) วิธีดูกายสิทธิ์ในดวงแก้ว

(๑๕.) วิธีดูภาคผู้เลี้ยง

(๑๖.) เรื่องนิพพาน  เรื่องภพ ๓ เรื่องโลกันต์  มีรูปร่างอย่างไร  มีอยู่อย่างไร  เกี่ยวข้องกันและกันอย่างไร

 

เหตุที่เขียนแนวเดินวิชาคู่มือสมภาร

      ท่านที่ทำวิชา ๑๘ กายได้แล้ว  ตามแนวหนังสือทางมรรคผล ๑๘ กาย  ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ  มีความประสงค์จะฝึกวิชาชั้นสูงต่อไป  ได้นำหนังสือคู่มือสมภารไปให้ข้าพเจ้าดู  แล้วถามว่าบทนี้เดินวิชาอย่างไร  ข้าพเจ้าตอบว่า  หนังสือเขาให้ทำอย่างไรก็เดินวิชาอย่างนั้น  ยังถามต่อไปอีกว่า  ที่หนังสือเขาว่าอย่างนั้นจะให้ทำอย่างไร  เรื่องของเรื่องก็ต้องพูดกันนาน  กว่าจะเข้าใจได้แต่ละบทไม่ใช่ของง่ายเลย  ทั้งที่หลวงพ่อท่านบอกว่าให้ทำอย่างนี้เราก็ยังทำไม่ได้

      จริงอยู่หลวงพ่อท่านทำได้  และศิษย์ที่ฝึกโดยตรงมาจากหลวงพ่อจะเห็นว่าง่ายและทำได้

             ครั้นมาถึงยุคของพวกเรา   เราศึกษาจากตำรา  ไม่ได้ทดลองปฎิบัติจากหลวงพ่อโดยตรง

      อาจเข้าใจไม่ตรงความประสงค์ของหลวงพ่อก็ได้เมื่ออ่านแล้ว  ต่างคนต่างเข้าใจ  เข้าใจตรงกัน

      บ้าง  ไม่ตรงบ้าง  เข้าใจถูกบ้าง  เฉียดไปบ้าง  นี่คือข้อเท็จจริงที่เราพบอยู่

      จากประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าสอนวิชาธรรมกายเบื้องต้นยึดหนังสือ ๑๘ กายของหลวงพ่อเป็นหลักสูตร  สอนไปตามนั้นฝึกไปตามนั้น  ได้แจกหนังสือ ๑๘ กายไปมากต่อมาก  ปรากฎว่าอ่านแล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง  แม้เห็นดวงปฐมมรรคแล้ว  ก็ยังเดินวิชาไม่ได้โอกาสที่จะทำวิชา  ๑๘  กายได้นั้น  เป็นอันหมดหวัง  เมื่อไม่มีใครทำวิชา ๑๘ กายได้  แสดงว่าการสอนของเราล้มเหลว  อาจารย์เก่งไปคนเดียว  ศิษย์ไม่เก่งด้วย  เพราะอาจารย์ทำให้เขาเห็นธรรมไม่ได้  อาจารย์จึงเก่งไปคนเดียว  จึงคิดปรับปรุงวิธีสอนใหม่  ปรับปรุงวิธีเดินวิชาใหม่  ทำของยากให้ง่ายเข้า  ได้เขียนหนังสือเล่มที่ชื่อว่า  “ธรรมกาย”  โดยอธิบายหนังสือ ๑๘ กายของหลวงพ่อให้ง่ายขึ้น  แสดงการเดินวิชาให้ง่ายขึ้น  ปรากฎว่างานสอนเบื้องต้น ๑๘ กายได้ผลมาก  ข้าพเจ้ารับรองว่าการฝึกวิชา ๑๘ กาย  หากได้ฝึกตามแนวที่กล่าวไว้ในหนังสือ “ธรรมกาย”  แล้วต้องเป็นวิชา ๑๘ กายทุกราย  (การพิมพ์คราวหลัง หนังสือเล่มนี้ใช้ชื่อว่า “ผู้ใดเห็นดวงธรรม  ผู้นั้นเห็นตถาคต  ตถาคตคือธรรมกาย”)

      จะเห็นว่าหนังสือ ๑๘ กายของหลวงพ่อยากมาก  จำเป็นต้องเขียนหนังสือคู่มือช่วย

      คราวนี้  กลับมาดูหนังสือคู่มือสมภารบ้าง  ก็ต้องว่ายากและยากมากด้วย

      ไม่รับรองว่า  แนวการเดินวิชาคู่มือสมภารที่ทำไว้นี้  จะช่วยเพื่อนสหธรรมิกได้มากน้อยเพียงไร  เพราะการเห็นวิชายังไม่ถึงขั้น  แต่โน๊ตที่ทำไว้นี้  ยกร่างไว้แนะนำเพื่อนสหธรรมิกกันเองเท่านั้น

      หากท่านมีแนวการเดินวิชาอยู่แล้ว  ท่านก็ทำตามแนวของท่าน  หากนึกไม่ออก  ก็ลองดูแนวของข้าพเจ้า  ท่านที่เชี่ยวชาญแล้วเก่งแล้ว  ตำราของข้าพเจ้าไม่เป็นประโยชน์ต่อท่าน

                                

บางส่วนจากหนังสือแนวเดินวิชาหลักสูตรคู่มือสมภารของหลวงพ่อวัดปากน้ำ  หน้า 1  :  อ่านทั้งหมด | หน้าแรก