ผู้ใดเห็นดวงธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต

การศึกษาเพื่อสร้างคุณธรรมนั้นมีหลายกระบวนการ

      เรามีหน้าที่ต้องศึกษาเล่าเรียนพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา เพื่อจะได้นำความรู้นั้นมาสร้างคุณธรรมให้เกิดแก่ใจของเรา แม้จะยากแต่เราก็ต้องเรียน นอกจากจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองแล้วยังจะเกิดประโยชน์แก่นักเรียนนักศึกษาด้วย กระบวนการเรียนรู้พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดามี  ๓ กระบวนการ ดังนี้   

     ๑. กระบวนการปริยัติ

     ๒. กระบวนการปฏิบัติ

     ๓. กระบวนการปฏิเวธ

     กระบวนการศึกษาทั้ง ๓ กระบวนการนี้ มีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ต้องศึกษาเรียนรู้ให้ครบ ทั้ง ๓ กระบวนการ จึงจะถูกวัตถุประสงค์ของพระศาสนา ท่านใดที่ผ่านการศึกษาครบทั้ง ๓ กระบวนการนี้ จึงจะถือว่าเป็นผู้มีคุณธรรม จึงจะถือว่าเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระศาสนา

กระบวนการปริยัติ

     คือ การศึกษาเรียนรู้คำสอนของพระบรมศาสดา ทางการสงฆ์แยกการศึกษาออกเป็น ๒ แผนก คือแผนกนักธรรม ได้แก่ นักธรรมตรี นักธรรมโท และนักธรรมเอก แผนกบาลีได้แก่ การเรียนเปรียญธรรม ตั้งแต่เปรียญธรรม ๓ ประโยคจนถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค ส่วนนักเรียนและนักศึกษานั้น มีหลักสูตรนักธรรมศึกษา ตรี โท เอก

     หากโรงเรียนทั้งประถม มัธยม และอุดมศึกษา มีความประสงค์จะให้นักเรียนเข้าสอบหลักสูตรนักธรรมศึกษา ก็ต้องติดต่อทางการสงฆ์ ให้พระสงฆ์มาสอนวิชาต่าง ๆ ในสถานศึกษาของเรา พอถึงกำหนดสอบธรรมสนามหลวงที่ทางการสงฆ์กำหนด โรงเรียนก็ส่งนักเรียนเข้ามาสอบสมทบ ปรากฏว่านักเรียนของเราสอบธรรมสนามหลวงได้มาก

     การศึกษากระบวนการนี้ เป็นกระบวนการเรียนรู้พระธรรมของพระบรมศาสดา เป็นการเรียนเพื่อรู้เท่านั้น เป็นการปูพื้นฐานไปสู่การปฏิบัติต่อไป กระบวนการนี้ทางการสงฆ์เรียกว่า “คันถธุระ”

กระบวนการปฏิบัติ

     คือ การศึกษาพัฒนาใจเพื่อให้แจ้งนิพพาน เป็นการศึกษาสำคัญในทางพระศาสนา แต่ยังไม่มีการจัดการศึกษากระบวนการนี้ในบ้านเมืองเรา คงมีแต่กระบวนการศึกษาปริยัติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

     ขาดกระบวนการศึกษาภาคปฏิบัติไป ทำให้สภาพใจคนตกต่ำ จนถึงขั้นขาดคุณธรรม ดังที่เราท่านทราบตรงกันนี้ เราเรียกร้องให้มีการสร้างคุณธรรม เรามีสิทธิ์เรียกร้อง แต่ใครเล่าจะทำให้ท่านได้  เพราะการทำงานด้านนี้ต้องมีความรู้ ต้องมีหลักสูตร ต้องมีครู จึงจะสอนกันได้ จึงจะวัดผลกันได้

     การเรียกร้องให้มีการสร้างคุณธรรม ไม่ว่าจะไปร้องเรียนที่เมืองใดประเทศไหน ไม่มีใครทำให้เราได้ เราจะยอมเสียเงินสักเท่าไร ก็ไม่มีใครทำให้เราได้ จนปัญญาด้วยประการทั้งปวง  

     จะตั้งทุนหลวงให้ ขอให้ทำงานนี้ให้ได้เถิด

     ไม่ต้องไปต่างประเทศ อยู่ที่ประเทศไทยนี้เอง ผู้ที่จะเป็นครูสอนเราได้ในกระบวนการปฏิบัตินั้น คือ พระมงคลเทพมุนี หรือที่เราเรียกว่า “หลวงพ่อวัดปากน้ำ” นั่นเอง

     กระบวนการปฏิบัติหรือที่ทางคณะสงฆ์เรียกว่า “วิปัสสนาธุระ” นี้ การศึกษาลักษณะนี้จัดได้  แห่งเดียวเท่านั้นคือ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยหลวงพ่อท่านสอนเอง มีหลักสูตร เป็นตำรา ๓ เล่ม คือ

     ๑. ทางมรรคผล (๑๘กาย) คือ วิชาธรรมกายเบื้องต้น

     ๒. คู่มือสมภาร วิชาธรรมกายชั้นสูง (มี ๑๕ บท รวมภาคผู้เลี้ยงด้วยเป็น ๓๐ บท)

     ๓. วิชชามรรคผลพิสดาร วิชาธรรมกายชั้นสูง (มี ๔๖ บท)

     หลวงพ่อใช้ตำรา ๓ เล่มนี้ เป็นหลักสูตรสอนวิปัสสนาธุระเรื่อยมา ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งหลวงพ่อมรณภาพ ข้าพเจ้าได้เรียนวิชาธรรมกาย ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนฝึกหัดครู เมื่อเรียนวิชาครูหลักสูตร ป.ป.จบลง ข้าพเจ้ารับราชการเป็นครู แต่เป็นครูได้ระยะหนึ่ง เปลี่ยนสายงานไปเป็นศึกษาธิการอำเภอการเป็นศึกษาธิการอำเภอของข้าพเจ้ามีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์องค์เณร จังหวัดใดจัดประชุมพระจะต้องเชิญข้าพเจ้าไปเป็นวิทยากรถวายความรู้วิชาธรรมกายแก่พระสงฆ์ตลอดมา ตั้งแต่วันนั้น จนถึงเกษียณราชการ สอนมาเกินกว่า ๒๐ ปี ต่อมา เลื่อนตำแหน่งราชการเป็นผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัด ได้เป็นวิทยากรสอนโรงเรียน วิทยาลัย และผู้บริหารระดับสูง

     เมื่อไปสอนจังหวัดใด ก็นำหนังสือของหลวงพ่อเล่มทางมรรคผล (๑๘ กาย) ถวายพระ ได้ยินพระ
ท่านวิจารณ์ว่า ตำราของหลวงพ่อบอกแต่หลักการ แม้เราพัฒนาใจจนถึงขั้นเห็น “ดวงปฐมมรรค” แล้ว
ก็ยังเดินวิชา ๑๘ กายไม่ได้ การเดินวิชา ๑๘ กาย ตกเป็นหน้าที่ของวิทยากรทั้งหมด ซึ่งวิทยากรเหนื่อย
มาก เพราะเมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว พระท่านจะทำได้เรียงลำดับกันไป วิทยากรจึงพักเหนื่อยไม่ได้เลย
ข้าพเจ้าจึงคิดขยายความหนังสือของหลวงพ่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติ จึงได้เขียนหนังสือคู่มือขึ้นใหม่
ช่วยขยายความตำราของหลวงพ่อให้ง่ายขึ้น ดังนี้

     ๑. เล่มทางมรรคผล (๑๘ กาย) ก็มาเป็นเล่ม “ผู้ใดเห็นดวงธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต  ตถาคตคือธรรมกาย” คือเล่มที่อยู่ในมือของท่านขณะนี้

     ๒. เล่มคู่มือสมภาร ก็มาเป็นเล่ม “แนวเดินวิชาหลักสูตรคู่มือสมภารของหลวงพ่อวัดปากน้ำ”

     ๓. เล่มวิชชามรรคผลพิสดาร ก็มาเป็นเล่ม “แนวเดินวิชาหลักสูตรวิชชามรรคผลพิสดารของหลวงพ่อวัดปากน้ำ”

     บัดนี้ หนังสือทั้ง ๓ รายการนี้ พิมพ์ออกสู่ตลาดแล้ว เป็นที่นิยมของวัด โรงเรียน วิทยาลัย ใช้เป็นหลักสูตรสอนเพื่อสร้างคุณธรรม เรื่องสร้างคุณธรรมจะไม่ยากกันอีกต่อไปแล้ว     

     กระบวนการปฏิบัติคือ การพัฒนาใจนั้น เป็นการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่เหมือนการเรียนวิชาทั่วไปในชั้นเรียน หลับตาเรียน ไม่ได้ลืมตาเรียน ก่อนเรียนครูต้องอธิบายก่อนเป็นบทๆ ไป อธิบายเสร็จแล้วจึงหลับตาฝึก ระหว่างฝึก ครูผู้สอนจะวัดผลและชี้แนะตลอดเวลา

     เป็นกระบวนการพัฒนาใจให้สว่างใส ตามคำสอนของพระบรมศาสดาข้อที่ ๓ ที่ว่า สจิตฺตปริโยทปนํ ซึ่งแปลว่า ทำใจให้สว่างใส ตั้งแต่ต้นจนปลาย ตั้งแต่หลักสูตรเบื้องต้นจนถึงหลักสูตรยากตามตำรา ๓ เล่มดังกล่าวนั้น

     ทันใดที่การฝึกมาถึงขั้นเห็น “ดวงใส” ในท้องของตน ซึ่งดวงใสนี้เรียกว่า “ดวงปฐมมรรค” นั้นสภาพใจของเราจะเปลี่ยนไปทันที เกิดความรู้สึกทางใจขึ้นใหม ่คือ กลัวบาปละอายต่อบาปทันที นี่คือเกิดคุณธรรมทางใจแล้วเป็นอัตโนมัติ ความรู้สึกนี้คือ หิริโอตตัปปะ เป็นคุณธรรมที่เราต้องการ สังคมใดที่คนมีสภาพใจเป็นหิริโอตตัปปะ สังคมนั้นก็เป็นสุข ครั้งพัฒนาใจให้เกิดความสว่างใสยิ่งขึ้นไปอีกตามตำรา ๓ เล่มดังกล่าวนั้น คุณธรรมอื่นก็จะเกิดตามมาเป็นอัตโนมัติ ส่วนท่านใดมีวาสนาบารมีจะถึง  ธรรมวิเศษ เรื่องนี้เป็นวาสนาบารมีเฉพาะตน

     ข้อสำคัญต้องมีครู ข้าพเจ้าขอแนะนำให้ท่านที่เป็นครู อ่านตำราชื่อ “วิธีสอนและเทคนิควิธีฝึกให้เป็นธรรมกาย” (คู่มือวิปัสสนาจารย์) จะช่วยท่านได้มาก โปรดติดต่อไปที่ข้าพเจ้า

     สรุปว่า กระบวนการปฏิบัติเป็นขั้นตอนของการฝึกใจล้วน ดำเนินการสอนไปตามตำราซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

กระบวนการปฏิเวธ

     เป็นกระบวนการสืบต่อจากกระบวนการปฏิบัตินั้น ฝึกพัฒนาใจให้ใสถึงระดับใด ก็จะเห็นวิชาเป็นลำดับไป ตามเนื้อหาสาระในตำรานั้น เมื่อจบบทฝึกนี้ขึ้นบทฝึกใหม่ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป ความรู้ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ครูอาจารย์ต้องควบคุม สามารถชี้แนะได้ แก้ไขข้อผิดพลาดได้ เหมือนการแสดงท่าร่ายรำของกรมศิลปากร หากเรารำไม่ถูก ครูเขาจะมาท่าให้ใหม่ ไม่ผิดอะไรกับการสอนวิทยาศาสตร์  ขั้นตอนแรกครูอธิบายหน้าชั้นถึงความรู้ที่เรียนวันนี้ ขั้นตอนที่สองครูนำนักเรียนเข้าห้องทดลอง  ขั้นตอนที่สาม ครูเดินดูการทดลองของนักเรียน นักเรียนคนใดทำไม่ถูก ครูจะเข้าแก้ไข

 

บางส่วนจากหนังสือ ผู้ใดเห็นดวงธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ตถาคตคือธรรมกาย หน้า 11  :  อ่านทั้งหมด | หน้าแรก