คุณลุงการุณย์  บุญมานุช

บทฝึกพัฒนาใจที่ ๑

การรักษาดวงธรรมและรักษาองค์

พระธรรมกายไม่ให้เลือนหาย

     ท่านที่ฝึกพัฒนาใจจนเห็นดวงธรรมขาวใสในท้องตนแล้วก็ดี  หรือท่านที่เห็นดวงธรรมแล้ว  และต่อวิชาจนเห็นพระพุทธรูปขาวใส (ธรรมกาย)  แล้วก็ดี  พึงรักษาดวงธรรมหรือองค์พระไว้ให้จงดี  ถ้าไม่รักษาไว้  จะเลือนหายไป  เราจะเสียใจว่าเราหมดที่พึ่งทางใจเสียแล้ว  วิธีรักษาให้ปฏิบัติดังนี้

            ๑. สำหรับท่านที่เป็นเพียงดวงธรรม  ให้ส่งใจนิ่งอยู่กับดวงธรรมนั้น  พร้อมกับบริกรรมในใจว่า  หยุดในหยุด  นิ่งในนิ่ง  ในอิริยาบถ  ๔  คือ ยืน  เดิน  นั่ง  นอน  ถ้าสภาพใจของเราหยุดได้ส่วนหรือนิ่งได้ส่วน  ท่านจะเห็นดวงธรรมชัดเจน  หากไม่มั่นตรึกนึกตรอง  คือไม่เอาใจจรดนิ่งไว้ที่ดวงธรรม  จะทำให้ดวงธรรมมัวหมองเลอะเลือนและหายไป

            ๒. สำหรับท่านที่เห็นองค์พระพุทธรูปขาวใส  คือเห็นดวงธรรมแล้ว  ผู้นำหรือครูบอกวิชาให้จนสามารถทำได้ถึงขั้นเห็นองค์ธรรมกาย  วิธีรักษา ก็คือ  ทำใจนิ่งอยู่กับดวงธรรมในท้องขององค์พระธรรมกาย  มีวิธีทำดังนี้  ลำดับแรก  ส่งใจนิ่งไปที่ปากช่องจมูกขององค์พระธรรมกาย  ท่านหญิงส่งใจเข้าทางปากช่องจมูกซ้าย  ท่านชายส่งใจเข้าทางปากช่องจมูกทางขวา  บริกรรมในใจ  หยุดในหยุด  แล้วเลื่อนไปเพลาตาขององค์พระธรรมกาย  จนในที่สุด  ส่งใจนิ่งไป  ฐานที่ ๗  ขององค์ธรรมกาย  วิธีเดินใจเหมือนกับวิธีเลื่อนดวงนิมิต  ซึ่งเราเคยฝึกมาแล้ว  เมือเราเลื่อนใจไปที่ศูนย์กลางกายขององค์พระธรรมกายแล้ว  พึงบริกรรมหยุดในหยุด ๆๆ ในอิริยาบถ ๔  คือ  ยืน  เดิน  นั่ง  นอน  ให้เห็นองค์พระธรรมกายขาวใสไว้เนื่องๆ  หากไม่หมั่นตรึก  นึกตรอง  คือไม่เอาใจจรดนิ่งไว้ตามที่กล่าวแล้ว  ทำให้องค์พระธรรมกายเลอะเลือนและจะหายไป

ความหมายของคำ  หยุด  นิ่ง  ใส

    เป็นลักษณะของใจที่ฝึกแล้ว  จะมีลักษณะ

    “หยุด”  เหมือนรถยนต์เบรค  รถยนต์จะหยุดเคลื่อนไหว

    “นิ่ง”  ได้แก่  ลักษณะใจราบเรียบไม่กระเพื่อม  เหมือนผิวน้ำ  ในโอ่งไม่มีกระแสลมมาสัมผัส

    "ใส”  ได้แก่  ขาวทะลุปุรโปร่ง  มีรัศมี

คำว่า  หยุด  นิ่ง  ใส  ตรงข้ามกับคำว่า  ส่าย  ไหว  มัว

สภาพใจเดิมของเรามีลักษณะ  ส่าย  ไหว  ริบ  รัว  มัว  ขุ่น

เราพัฒนาขึ้นมาจนเป็นลักษณะ  หยุด  นิ่ง  ใส  การที่เราท่องในใจว่า  หยุดในหยุด  หมายความว่า  ให้ทำใจหยุดให้ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม,  นิ่งในนิ่ง  หมายความว่า  ให้ทำใจให้นิ่งลึกซึ้งกว่าเดิม,  ใสในใส หมายความว่า  ให้ทำใจให้ใสยิ่งกว่าเดิม

คำว่า  หยุดในหยุด  นิ่งในนิ่ง  ใสในใส  เป็นคำที่เราบริกรรมไว้เนือง ๆ  ช่วยให้การฝึกได้ผลเร็วยิ่งขึ้น

 

บางส่วนจากหนังสือ ทางรอดของมนุษย์ฯ หน้า 55  :  อ่านทั้งหมด | หน้าแรก