คำว่า”ธรรมกาย” สู่วงการสงฆ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒

      คำว่า “ธรรมกาย” ไม่คุ้นหูเราท่าน แต่แรกที่ฟัง ย่อมเกิดความเข้าใจกันไปต่างๆ แต่คนที่ฝึกหัดพัฒนาใจกับหลวงพ่อเข้าใจคำว่า “ธรรมกาย” เป็นอันดี

     แต่แล้วคำว่า “ธรรมกาย” ก็สู่วงการของสงฆ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ เหตุมาจากศิษย์หลวงพ่อ คือ อุบาสิกาเนาวรัตน์ หิรัญรักษ์ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงถามอุบาสิกาเนาวรัตน์ว่า อยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมกับพระครูสมณธรรมสมาทาน (หลวงพ่อสด) แห่งสำนักวัดปากนำนั้น หลวงพ่อท่านสอนอย่างไร และเห็นอะไรบ้าง

     อุบาสิกาเนาวรัตน์ หิรัญรักษ์ ก็กราบทูลเล่าเนื้อวิชาถวาย เรียนอย่างไร ฝึกอย่างไร เห็นอะไรก็กราบทูลเช่นนั้น ปรากฏว่า เป็นที่พอพระทัยของสมเด็จฯ จึงทรงบัญชาให้อุบาสิกาเนาวรัตน์ หิรัญรักษ์ เขียนตำราถวาย อุบาสิกาเนาวรัตน์ หิรัญรักษ์ได้นำความไปกราบทูลหลวงพ่อ หลวงพ่อได้แต่แจ้งแก่ศิษย์ว่า นี่เป็นบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช เมื่อทรงบัญชาสั่งมายังพวกเธอ พวกเธอจงช่วยกันรวมความรู้แล้วพิมพ์เป็นเล่มถวายสมเด็จฯ จงรีบทำโดยเร็ว เธอทั้งหลายเรียนกันมามากแล้ว ทบทวนความรู้ดูใหม่ ทำหลักสูตรจากง่ายไปหายากลองนึกดูว่าหลวงพ่อสอน อะไรไว้บ้าง เรื่องใดแต่ครั้งใด หารือในหมู่พวกเธอกันเอง อย่ามากวนหลวงพ่อมากนัก แต่ถ้าสงสัยเรื่องใดให้ถามเป็นเรื่องๆ แล้วหลวงพ่อจะเทศน์ให้ฟังใหม่ ปรากฏว่า ศิษย์หลวงพ่อเหงื่อแตก ไปตามๆ กัน เพราะไม่มีใครจดโน๊ตความรู้ที่หลวงพ่อสอนไว้เลย ในที่สุด ศิษย์หลวงพ่อก็ต้องมาประชุมกัน ซึ่งประกอบด้วย อุบาสิกาเนาวรัตน์ หิรัญรักษ์ อุบาสิกาสมทรง สุดสาคร และ คุณฉลวย สมบัติสุข เป็นตำราออกมาชื่อว่า “คู่มือสมภาร” และได้นำหนังสือ “คู่มือสมภาร” ถวายแต่พระสังฆราชฯ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒

     หนังสือคู่มือสมภาร กล่าวถึงการพัฒนาใจ ตามคำสอนของพระศาสดาข้อที่ ๓ ที่ว่า สจิตฺตปริโยทปนํ จนในที่สุดเข้าถึง “ธรรมกาย” เป็นอันว่า คำ “ธรรมกาย” ได้เข้าสู่วงการสงฆ์ แต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นต้นมา

 

 

บางส่วนจากหนังสือ อภินิหารหลวงพ่อวัดปากน้ำ หน้า 42 : อ่านเพิ่มเติม