คุณสมบัติส่วนตัวของหลวงพ่อ

     หลวงพ่อลายมือสวย เป็นพรสวรรค์ของหลวงพ่อ หลวงพ่อเซ็นชื่อกำกับรูปถ่ายให้ แก่ศิษย์ จะเห็นว่าลายมือสวย เกิดความรู้สึกว่ามีชีวิตชีวา แต่ตอนที่หลวงพ่อเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระมงคลเทพมุนี ลายมือชักไม่สวยแล้ว เพราะอายุมากนั่นเอง

     หลวงพ่อมีน้ำเสียงคมและมีอำนาจ เพราะเสียงดีมีอำนาจนี้เอง ชวนให้น่าฟัง เวลาเทศน์ไม่ต้องเกณฑ์กัน เพราะอยากฟังหลวงพ่อพูด น้ำเสียงของหลวงพ่อทำให้เรามีมานะอดทน สมัยที่ข้าพเจ้ามาฝึกเรียนวิชาธรรมกาย ฝึกกี่ปีก็ไม่ได้ความ กล้าขึ้นมาอย่างไรไม่ทราบ เข้าไปลาหลวงพ่อ กราบนมัสการหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อครับ ผมลาหลวงพ่อแล้ว วิชาหลวงพ่อ เรียนเท่าไรไม่เห็น วันนี้มากราบลา”

     หลวงพ่อรับสั่งว่า “ขึ้นชื่อว่าของดี ยากทั้งนั้น ไม่มีใครได้อะไรโดยไม่ทำความเพียร หลวงพ่อเรียนถึงกับสละชีวิต จึงได้เห็นธรรม เธอจงไปทำความเพียรใหม่ ต้องทำเป็น ต้องทำได้” เสียงนี้ก้องในหูเราแต่วันนั้นจวบจนวันนี้ ข้าพเจ้าเรียนวิชาธรรมกายไม่เลิก คิดจะเลิกเรียนหลายครั้ง แต่นึกอายหลวงพ่อ ท่านสั่งไว้แล้วว่า เราต้องทำเป็น ต้องทำได้

     หลวงพ่อมีวาทศิลป์ในการเทศน์ นอกจากจะสันทัดบาลีแล้ว วิธีขยายความ และการสรุปเนื้อหาสาระ แล้วตบท้ายวิชา ๑๘ กาย บางคราวร่าเริงในธรรม มีเสียงหัวเราะในลำคอเสียด้วย พอบอก “มาติกา” หรือกระทู้หรือปุณณียบท แล้วลงท้ายด้วย “ติ” แล้ว หลวงพ่อจะเริ่มกล่าว ต่อไปนี้อาตมาภาพจะคลี่ความเป็นสยามภาษา....ยกศัพท์ขึ้นอธิบายทีละศัพท์ เสร็จแล้ว สรุปความบาลีเป็นภาษาไทย จากนั้นโยงเข้าเรื่อง ลำดับเรื่องไปจนจบ ไม่เคยหลงประเด็น ปกติเมื่อ พูดอะไรที่ชอบแล้วมักติดลมเรื่อยไปจนลืมประเด็น รับประกันได้ว่าหลวงพ่อ ไม่เคยหลงประเด็น เข้าหาประเด็นแล้วสรุปอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นโยงเรื่องเข้าหาภาคปฏิบัติ คือโยงเข้าหาวิชา ๑๘ กายของหลวงพ่อ ไม่รู้หลวงพ่อทำได้อย่างไร เหตุใดโยงมาเข้าวิชา ๑๘ กายได้ทุกทีไป หลวงพ่อมีลีลาการเทศน์อย่างนี้ ถูกใจพระทิพย์ปริญญายิ่งนัก เพราะพระทิพย์ปริญญา เป็นเปรียญ ๖ ประโยค เคยเป็นนักเทศน์มาเหมือนกัน โบราณมีคำพังเพยว่า นักเลงเก่าย่อมไม่หาญราญนักเลง บัดนี้ นักเลงกับนักเลงมาเจอกัน คือ นักเทศน์กับอดีตนักเทศน์มาเจอกัน คุณพระฯ ยอมรับว่าหลวงพ่อมีฝีมือในทุกด้าน ถวายความเคารพแก่หลวงพ่อ และเป็นปากเสียงแทนหลวงพ่อด้วย ใครจะมากล่าวสูงต่ำอะไรแก่หลวงพ่อไม่ได้ก็แล้วกัน คุณพระฯ ไม่ยอม

     หลวงพ่อเป็นบุรุษผู้มีความเพียร พวกเรากันเองอาจไม่คิดอะไร แต่บัณฑิตอย่างพระทิพย์ปริญญา มารู้เห็นว่าหลวงพ่อเคร่งวินัยยิ่งนัก อีกทั้งทำวิชาภาวนาตลอดวันตลอดคืน วันหนึ่งหลวงพ่อจำวัดเพียง ๒ ชั่วโมงตามที่อุบาสิกาถนอม อาสไวย์ เล่าให้ฟัง หลักการแพทย์บอกว่าวันหนึ่ง เราต้องนอนอย่างน้อย ๘ ชั่วโมง ร่างกายจึงจะอยู่ได้ แต่หลวงพ่อนอนเพียงวันละ ๒ ชั่วโมง สร้างความประหลาดใจให้แก่พระทิพย์ปริญญายิ่งนัก คุณพระฯ ได้ศึกษาต่อไปว่า เหตุใดหลวงพ่อจึงทำภาวนาตลอดวันตลอดคืน ก็ทราบว่า หลวงพ่อทำงานใหญ่ คือ คุมวิชาธรรมกายชั้นสูงให้แก่ศิษย์ แบ่งเป็นเวรได้ ๖ ชุดๆ ๓ ชั่วโมง งานใหญ่ที่ว่านั้นคือ ปราบมาร มารนั้นคือ ธรรมกายดำ หรือที่เราเรียกว่าทุกข์และสมุทัย หรือที่เราเรียกว่า ตัณหา อุปาทาน หรือที่เรียกว่า อวิชชา ได้รู้เห็นหลวงพ่อใช้วิชาธรรมกายแก้สงคราม เพราะขณะนั้นเกิดสงครามโลก ญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย ถ้าญี่ปุ่นไม่ยอมแพ้ กรุงเทพฯ จะเป็นทะเลเพลิง คุณพระฯ เป็นผู้รู้เห็นงานสำคัญนี้ จึงเคารพหลวงพ่อมีคุณแก่บ้านเมือง แต่ไม่มีใครรู้ รู้กันเฉพาะศิษย์หลวงพ่อที่เป็นธรรมกายชั้นสูงเท่านั้น

     หลวงพ่อเป็นนักเสียสละ ไม่มีอะไรเป็นของตนเอง ได้อะไรมาทั้งหมดถวายวัดทั้งหมด เข้าโรงครัวทั้งหมด ไม่เคยเห็นหลวงพ่อหยิบเงินเลย เห็นแต่ใบปวารณา เวลาใครถวายเงิน เขาถวายเป็นใบปวารณา โยมประยูร ไวยาวัจกรวัดเล่าว่า หลวงพ่อเป็นหนี้วัด เวลาญาติโยมบ้านนอกมาเยี่ยม หลวงพ่อยืมเงินวัดไปให้ หากหลวงพ่อได้กัณฑ์เทศน์ จะใช้หนี้ทันที แถมให้ดอกเบี้ยด้วย โยมประยูรเล่าตลกๆ ต่อไปว่า ผมอยากให้หลวงพ่อยืมเงินอีก ถามว่าทำไม่จึงเป็นอย่างนั้น ยิ่งยืมวัดก็ยิ่งรวย เพราะหลวงพ่อให้ดอกเบี้ยเกินเงินต้นทุกครั้ง

     โยมประยูร สุนทารา ศรัทธาในหลวงพ่อ จึงมารับใช้หลวงพ่อ เป็นไวยาวัจกรให้แก่วัดติดตามปฏิบัติหลวงพ่อ เห็นหลวงพ่อที่ไหนก็เห็นโยมประยูรที่นั่น โยมประยูรชอบใจผม คงจะเห็นว่าผมเป็นข้าราชการ ตอนนั้นผมเป็นชั้นตรีแล้ว ทุกคราวที่ไปหาหลวงพ่อ โยมประยูรจะให้โอกาสแก่ผมเป็นอย่างดี ช่วงเวลาที่หลวงพ่อป่วย โยมประยูรทำงานหนักกว่าหลวงพ่อจะนอน กว่าจะแปรงฟัน ฉันยาที่หมอสั่ง ดูว่าโยมประยูรเหนื่อยเหลือเกิน ตอนที่หลวงพ่อไม่ป่วย โยมประยูรก็คุยกับหลวงพ่อ แน่นอนโยมประยูรต้องได้ฟังเรื่องดีๆ ผมไม่มีโอกาสสนทนากับโยมประยูรเลย เป็นเพราะไม่ว่าง จะต้องรับใช้หลวงพ่อใกล้ชิดนั่นเอง ผิดกับลุงเปล่งผู้เป็นศิษย์คนโปรดของ หลวงพ่อ ลุงเปล่งทำงานกับฝรั่ง มีรายได้สูง ลุงเปล่งผู้นี้ชอบใจผมมาก ทุกครั้งที่พบกัน มักจะมีเรื่องของหลวงพ่อเล่าให้ฟัง แล้วจะเขียนให้ทราบในโอกาสต่อไป

 

บางส่วนจากหนังสือ อภินิหารหลวงพ่อวัดปากน้ำ หน้า 53 : อ่านเพิ่มเติม