ความต้องการของมนุษย์

เรามาเรียนกันว่า มนุษย์เรามีความต้องการอะไรบ้าง มีนักปราชญ์กล่าวไว้ต่างกัน ในที่นี้ขอกล่าวถึงความต้องการของมนุษย์ว่ามนุษย์มีความต้องการ ๒ อย่าง คือ

   (๑.)ความต้องการส่วนตัว เป็นความต้องการส่วนตัวของแต่ละบุคคล

   (๒.)ความต้องการของมนุษย์ที่มีต่อโลก คือต้องการให้โลกเป็นที่น่าอยู่น่าอาศัย

ความต้องการส่วนตัวของมนุษย์

แบ่งเป็น ๒ อย่างคือ ความต้องการทางโลกและความต้องการทางธรรม ความต้องการทั้ง ๒ นั้น ต่างกันอย่างไร?

     ก.ความต้องการส่วนตัวของมนุษย์ในทางโลก หมายความว่าเราเป็นคฤหัสถ์  ไม่ได้เป็นนักบวชในศาสนา  คฤหัสถ์มีความต้องการอะไรบ้าง  ความต้องการของเราเป็นดังนี้

     ต้องการอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อันเป็นความต้องการพื้นฐาน ต้องการความสำเร็จในอาชีพ ต้องการคู่ครองที่ดี  มิตรดี  อยากมีชื่อเสียงเกียรติยศ  อยากได้นายดี  มีคุณธรรม  เพื่อนดี  ลูกน้องดี  อยากใหรูปร่างหน้าตาดี  อยากให้อารมณ์ดี  ปัญญาดี  เป็นต้น

    ข.ความต้องการส่วนตัวของมนุษย์ในทางธรรม  ในเรื่องเกี่ยวกับคำสอนของพระศาสดานั้น  มีอยู่มากที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์เพราะมนุษย์จะต้องปฎิบัติตามคำสอนนั้น  ความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่ต่อคำสอนนั้น มีอย่างไร?

    ต้องการที่จะเข้าใจคำสอนของพระศาสดา  ต้องการที่จะจดจำคำสอนให้ได้ทั้งหมด  อยากเข้าถึงธรรมตามคำสอนของพระศาสดาให้ได้  อยากให้หมดชาติหมดภพ  ไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตายอย่างที่พระศาสดาประสบความสำเร็จไปแล้ว  เมื่อตายแล้วขอให้สู่สวรรค์  ความต้องการในทางธรรมของเราเป็นอย่างนี้

        ความต้องการของมนุษย์ที่มีต่อโลก  ไม่อยากให้โลกมีการเบียดเบียนกัน ไม่อยากให้มีสงคราม ไม่อยากให้มีมลภาวะเป็นพิษ ไม่อยากให้มีภัยธรรมชาติ ไม่อยากให้มีโจรผู้ร้าย ไม่อยากให้เศรษฐกิจตกต่ำ ....ฯลฯ

        ความต้องการของนักบวช  นักบวชคือผู้ไม่ครองเรือนออกบวชเพื่อการศึกษาและสืบคำสอนของพระศาสดา  เผยแพร่คำสอนปฏิบัติตามคำสอนของพระศาสดา เพื่อบรรลุธรรมวิเศษอย่างที่พระศาสดาได้ทรงบรรลุมาแล้ว  นักบวชมีครอบครัวไม่ได้  ทานอาหารมื้อเย็นไม่ได้  จะต้องประพฤติตามข้อห้ามแห่งศีล  อย่างสงฆ์ไทยมีศีล ๒๒๗ ข้อ  การดำเนินชีวิตประจำวันของสงฆ์ไทย  แทบทำอะไรไม่ได้กระดุกกระดิกตัวแทบไม่ได้  เพราะข้อบังคับของศีลห้ามไปหมด  พระสงฆ์ไทยจึงบริสุทธิ์เหลือหลาย  เหตุนี้เอง  พระสงฆ์ไทยจึงเป็นเนื้อนาบุญของโลก  ใครจะทำบุญต้องทำแก่สงฆ์ไทย  เพราะพระสงฆ์ไทยบริสุทธิ์ด้วยศีล

       เรามาเรียนกันว่า  นักบวชมีความต้องการอะไร  คำตอบก็คือนักบวชไม่ดำเนินชีวิตอย่างผู้ครองโลก  เห็นว่าการดำเนินชีวิตอย่างฆราวาสเป็นทุกข์  ต้องการมีชีวิตอย่างมีระเบียบ  มีกฎเกณฑ์  นั่นคือบังคับความประพฤติให้อยู่ในบังคับแห่งศีล  ศีลมีข้อบังคับไว้มากแค่ไหน  ก็จะต้องบังคับตยเองให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งศีลนั้น  พระบรมศาสดาทรงประพฤติอย่างไร  พระสงฆ์ไทยก็ประพฤติเช่นนั้น  เหตุนี้นักบวชจึงมีความต้องการที่จะเข้าถึงพระสัทธรรมของพระศาสดา   ต้องการเข้าถึงธรรมอันวิเศษที่พระศาสดาได้เข้าถึงมาแล้ว  ต้องการความหลุดพ้น  ไม่เวียนว่ายตายเกิดอย่างที่พระศาสดาได้ประสบความสำเร็จมาแล้ว  ต้องการเผยแพร่คำสอนของพระศาสดาให้ทั่วโลกเพื่อมวลมนุษย์จะได้ประพฤติตนในทางที่จะพ้นทุกข์

      เรื่องคำสอนของพระศาสดานั้น  มีทั้งเบื้องต้น  ระดับกลาง  และระดับสูงยิ่ง  สุดแต่ความสามารถของปวงชนที่จะปฏิบัติได้ระดับใดเลือกได้ตามความสามารถของตน  คำสอนของพระศาสดานั้นมีถึง  ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์  เรียนกันเท่าไรไม่รู้จบสิ้น  เหตุที่คำสอนมีมากก็เพราะว่าความรู้นั้นมีมากระดับ  ทั้งระดับเบื้องต้น  ระดับกลาง  และระดับสูง  หากเราเรียนกันเพียงว่าอ่านให้จบ  จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม  มุ่งแต่ให้จบสถานเดียว  เพียงแค่นี้  ยังต้องใช้เวลาหลายปี  ถ้าต้องการอ่านแล้วและเข้าใจด้วย  จะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก

     หากมีความต้องการจะพัฒนาใจตนให้เข้าถึงคำสอนเหล่านั้น  จะต้องใช้เวลาฝึกฝนอบรมจิตใจเรานานยิ่งขึ้นไปอีกมาก

     ซึ่งเรื่องการพัฒนาใจให้เข้าถึงพระธรรมของพระศาสดานั้น  เป็นเรื่องทำได้ยาก  หากเราสามารถต่อสู้กับความยากลำบากนั้นได้  ใจเราจะเข้าถึงธรรมอันวิเศษ  ส่งผลให้ใจเราสงบระงับ  เกิดความสุขทางใจอันประณีตและยังส่งผลกระทบไปถึงโลกเราด้วย

     คือทำให้โลกสงบ  โลกเราจะมีแต่ความสงบ  ไม่มีสงคราม  ไม่มีการเบียดเบียนกัน   มวลมนุษย์จะเป็นมิตรกันทั่วโลก  โลกลักษณะนี้เป็นโลกที่น่าอยู่น่าอาศัย

      แต่ถ้ามนุษย์ในโลกไม่พัฒนาใจให้เข้าถึงพระธรรมอันยิ่งนั้น  ใจเราก็เป็นที่มั่วสุมของกิเลสทั้งหลาย  กิเลสย่อมส่งผลไม่ดีงามทั้งปวงเราจะมีแต่ทุกข์ร้อนไม่วายเว้น  เสร็จเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่อง  ตามแต่อานุภาพของกิเลสจะให้เป็นไป  เมื่อกิเลสเข้าครอบงำใจเราได้  คือ  เขายึดอำนาจปกครองได้  ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็เป็นผลงานของกิเลสทั้งนั้น

 

บางส่วนจากหนังสือ ทางรอดของมนุษย์ฯ หน้า 3  :  อ่านทั้งหมด | หน้าแรก