ใจคืออะไร?

เรื่องของใจ  เป็นเรื่องเข้าใจยาก  เพราะใจไม่มีตัวตน  จับต้องไม่ได้  มองไม่เห็น 

เมื่อยากอย่างนี้  แล้วเราจะฝึกใจของเราได้อย่างไร  พระศาสดาทรงทำเป็นตัวอย่างมาแล้ว  ถึงจะยาก  เราก็ต้องพยายาม   พระไตรปิฎกพูดถึงเรื่องของใจไว้บ้าง  ดังนี้ 

ก. ใจที่ยังไม่ได้ฝึกมีลักษณะ ๔ (ขุ.ธ. ๒๕/๑๓/๑๙) 

   ๑.)   ผนฺทนํ       มีลักษณะดิ้นรน

   ๒.)   จปลํ          กลับกลอก

   ๓.)   ทุรกฺขํ         รักษายาก

   ๔.)   ทุนฺนิวารยํ  ห้ามได้ยาก

ข. ธรรมชาติของใจ ๕ (ขุ.ธ. ๒๕/๑๓/๑๙)

   ๑.)   สุทุทฺทสํ    เห็นได้ยาก

   ๒.)   สุนิปุณํ     ละเอียดยิ่งนัก

   ๓.)   ทุนฺนิคฺคหํ  ข่มได้ยาก

   ๔.)   ลหุ           เร็ว (เกิดดับเร็ว)

   ๕.)   ยตฺถ  กามนิปาตินํ  มักตกไปในอารมณ์ความใคร่

ค. ธรรมชาติใจ  ๒  อย่าง  (นย. อง. เอก.๒๐/๕๒-๕๓/๑๑-๑๒)

   ๑.)   ใจนี้ผ่องใสได้โดยธรรมชาติ  แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา

   ๒.)   จะให้ใจผ่องใสเหมือนเดิม  ก็ด้วยจิตภาวนา

ใจเป็นของละเอียด  มองด้วยตาไม่เห็น  แต่ใจแสดงอาการ  ๔  อย่าง  คือ

(๑.)  เห็น  ได้แก่  การที่เรามองเห็นสิ่งทั้งหลายรอบตัวของเรา  เราเกิดความรู้สึกว่า “เห็น”

(๒.)   จำ   ได้แก่  การที่เราจำเรื่องราว  จำชื่อคน  เราเกิด  ความรู้สึกว่า  “จำ”

(๓.)   คิด   ได้แก่  การที่เรานึก  ใคร่ครวญ  ลองทำ  มุ่งเอาความรู้สึกว่า  “คิด”

(๔.)   รู้      ได้แก่  ความสำเร็จจากการคิด  การนึกได้  มุ่งเอาความรู้สึกว่า  “รู้”

ดังนั้น  ใจ  คือ  การรวมเอา  เห็น  จำ  คิด  รู้  เข้าด้วยกันให้เป็นจุดเดียวกัน

 

บางส่วนจากหนังสือ ทางรอดของมนุษย์ฯ หน้า 17  :  อ่านทั้งหมด | หน้าแรก