อานุภาพของธรรมกาย

อานุภาพของธรรมกาย

     ๑. พระพุทธเจ้า ทรงสอนให้เราหาที่พึ่ง ที่พึ่งของเรามี ๓ อย่าง ที่เราเรียกว่า “ไตรสรณาคมน์”  ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามที่พระองค์ประทานแก่ปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันคำสอนอันนี้ พระสงฆ์ใช้สอนพุทธบริษัท จนทุกวันนี้ คำสอนนี้ ก็คือ

          พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

          ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

          สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

          ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ฯลฯ

          ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ฯลฯ

     แปลว่า ข้าพเจ้าขอถึง พระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึกถึง

     ข้าพเจ้าขอถึง พระธรรมเจ้า ว่าเป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึกถึง

     ข้าพเจ้าขอถึง พระสงฆเจ้า ว่าเป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึกถึง

พระพุทธองค์ ทรงย้ำเรื่อง ขอถึง “ที่พึ่ง” ถึง ๓ ครั้ง (ทุติ ตติ)

     แต่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้าที่ว่านั้น หมายเอาอะไร

     - พระพุทธเจ้า หมายถึง ธรรมกาย

     - พระธรรมเจ้า หมายถึง ดวงธรรมทำหน้าที่ทำให้เป็นธรรมกาย คือหมายถึง ดวงธัมมานุปัสสนสติปัฏฐาน เป็นดวงแก้วใสในท้องธรรมกาย

     - พระสงฆเจ้า หมายถึง ใจ (เห็น จำ คิด รู้) ของธรรมกาย

          ที่เราว่า พุทฺธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ นั้น เป็นเพียงการ “ขอถึง” ไม่ใช่การ “เข้าถึง”ถ้าจะ “เข้าถึง” จะต้องปฏิบัติ ตามวิธีที่กล่าวแล้ว

     ๒. บทสวดมนต์ที่เราได้ยินพระสงฆ์สวดกันทุกวัน ได้แก่ บทที่ว่า

     นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ พุทฺโธ เม สรณํ วรํ

     - แปลว่า สิ่งอื่น ไม่ใช่ที่พึ่ง ไม่ใช่ที่ระลึกถึง

       พุทธรัตนะ เป็นที่พึ่ง อันประเสริฐของเรา

     นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ ธมฺโม เม สรณํ วรํ

     - แปลว่า สิ่งอื่น ไม่ใช่ที่พึ่ง ไม่ใช่ที่ระลึกถึง

       ธรรมรัตนะ เป็นที่พึ่ง อันประเสริฐของเรา

     นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ สงฺโฆ เม สรณํ วรํ

     - แปลว่า สิ่งอื่น ไม่ใช่ที่พึ่ง ไม่ใช่ที่ระลึกถึง

       สังฆรัตนะ เป็นที่พึ่ง อันประเสริฐของเรา

     พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ คือ ธรรมกาย ทรงสอนให้ยึด ธรรมกาย เป็นที่พึ่ง

     ๓. ธรรมกายเป็นกาย นิจฺจํ สุขํ อตฺตา เป็นกายไม่แตกดับ เป็นสุขจริง ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนได้ เป็นกายโลกุตระ ออกนอกภพ ๓ ไปได้ ไม่เวียนว่ายตายเกิด

     ส่วนกายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ทั้งกายหยาบกายละเอียด เป็นกาย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เป็นกายไม่เที่ยงแตกดับเป็นทุกข์ ยึดมั่นถือมั่นเอาเป็นตัวตนไม่ได้ เป็นกายเวียนว่ายอยู่ในภพ ๓ ออกนอกภพ ๓ ไม่ได้ เป็นกายโลกีย์ มีรู้มีญาณที่เชื่อไม่ได้

     ธรรมกาย เป็นผู้เห็นอริยสัจ ๔เห็นวิชชา ๓ คือ

     ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้

     จุตูปปาตญาณ เห็นการเกิดการตายของสัตว์โลก

     อาสวักขยญาณ รู้วิธีทำให้หมดกิเลส

     ส่วนกายโลกีย์ เห็นวิชชาสำคัญเหล่านี้ ไม่ได้เลย

     ๔. ธรรมกาย ทำนิโรธได้ ทุกข์และสมุทัยดับไปได้เพราะการทำนิโรธของธรรมกาย ดังนั้น ธรรมกาย จึงกำจัด ทุกข์ ภัย โรค ได้

     คนที่เรียนวิชชาธรรมกายจนเก่ง เคยเห็นคนแก้โรคหายได้โดยไม่ต้องกินยา ตัวอย่างอันนี้มีไม่น้อยเลย เว้นแต่ป่วยถึงขั้นแก้อะไรไม่ได้

     พูดถึงการบำบัดทุกข์ในทุกวันนี้ ไม่เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธองค์ เมื่อมีทุกข์ร้อนขึ้นมาก็ไปหาหมอดู ไปบูชาต้นไม้ใหญ่ ไปรดน้ำมนต์ ไปหาเจ้าเข้าผีอะไรต่อมิอะไรร้อยแปด พลอยที่ทุกข์จะหมด  กลับเป็นการเพิ่มทุกข์ เพราะวิธีการเหล่านั้นเป็นวิชาของมารเป็นของอวิชชาเขา

     ถ้าท่านทำใจหยุด ทำใจนิ่ง ตามวิธีที่กล่าวในตอนต้น จนเห็นดวงปฐมมรรคใส ในท้องของท่าน  แสดงว่าท่านทำนิโรธเบื้องต้นเป็นแล้ว แม้จะทำไม่ได้มาก เพียงเท่านี้ ก็ถูกคำสอนของพระศาสดา  ทุกข์ร้อนก็จะหมดไป แม้หมดไปไม่มากทันใจตน เราก็ไม่ต้องไปเสียเงินเสียทอง และไม่เป็นการสนับสนุนวิชาของมารให้วงกว้างออกไปอีก

     เราไปสนับสนุนวิชาของมาร งานของมารก็โตขึ้น แล้วเราจะเป็นสุขกันอย่างไร เพราะมีแต่คนละทิ้งคำสอนของพระศาสดา แล้วไปสนับสนุนวิชามาร อย่างนี้ อวิชชาก็ครองโลกเท่านั้นเอง

     ๕. ธรรมกาย เป็นที่รวมของ พระไตรปิฎก

     กายและใจ ของธรรมกาย เป็น วินัยปิฏก

     ดวงจิต ของธรรมกาย เป็น สุตตันตปิฎก

     ดวงปัญญา ของธรรมกาย เป็น อภิธรรมปิฎก

     คนที่ฝึกวิชชาธรรมกาย แม้อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ เมื่อเขาเล่าเรียนวิชชาธรรมกาย จนแก่กล้า เขาจะเป็นคนฉลาดและเจ้าปัญญา อย่างไม่ต้องสงสัย

     ๖. อานุภาพธรรมกาย นอกจากกำจัดทุกข์ กำจัดภัย กำจัดโรค ได้แล้ว ยังช่วยให้เราสำเร็จมรรคผล คือเข้านิพพาน เพราะธรรมกายเป็นกายเข้านิพพาน แม้จะฝึกฝนไม่แก่กล้า ก็เป็นนิสัยปัจจัยติดตัวไปปรภพเบื้องหน้า แม้ตายไปก็ไปสุคติ อบายภูมิไม่ต้อนรับผู้ได้ธรรมกาย หากไม่เห็นดวงธรรม  หากไม่เห็นธรรมกายแม้ว่าฝึกฝนมานานแค่ไหน ก็ไม่เห็นสักครั้ง ถึงเวลาเจ็บป่วยใกล้ตาย บริกรรมคาถา “สัม มา อะ ระ หัง” ไปจนหมดลม ก็ไปสุคติได้

     ท่านปรารถนาเข้านิพพาน แต่ท่านยังฝึกธรรมกายไม่แก่กล้า ยังฝึกละสังโยชน์ไม่เข้าเกณฑ์  ท่านก็ยังเข้าไม่ได้ ท่านที่ไม่เป็นธรรมกาย แต่อยากเข้านิพพาน อันนี้ยังห่างไกล เพียงแต่อยากและตั้งความปรารถนาไว้เท่านั้น

     ก็เมื่อธรรมกายมีความสำคัญขนาดนี้ เหตุใดจึงไม่รีบฝึกฝนอบรมกัน ธรรมกายกับนิพพานเป็นของคู่กัน เหมือนพระสงฆ์คู่กับวัด ฆราวาสคู่กับบ้าน

     ๗. เนื้อหาสาระของวิชชาธรรมกาย เท่าที่พระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ เขตภาษี-เจริญ กรุงเทพมหานคร ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายได้รวบรวมไว้นั้น มีเนื้อวิชชามากมาย ขอเชิญท่านผู้เป็นปราชญ์ติดต่อมาขอศึกษาได้ที่ วัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และเมื่อเรียนจบแล้ว ท่านก็จะเข้าใจอานุภาพของธรรมกายอย่างชัดเจน และถ้าจะให้เขียนอานุภาพธรรมกายอีก จะเขียนไปเท่าไรก็
ไม่มีวันจบสิ้น ที่นำมาเขียนนี้ เป็นส่วนน้อยเหลือเกิน

     ๘. พระพุทธวัจนะที่ว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ”

     “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” นั้น มีความหมายอย่างไร

     “ตน” อันเป็นที่พึ่งแท้ คือ “ธรรมกาย” เพราะตนที่เป็นกายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม ทั้งหยาบและละเอียด เป็นกายโลกีย์ เป็นกาย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แตกดับได้ เป็นที่พึ่งแท้ไม่ได้ แต่เป็นที่พึ่งเทียม ส่วนธรรมกายเป็นกายไม่แตกดับ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย จึงเป็นที่พึ่งแท้

     ๙. ธรรมกาย เป็นผู้กำจัดทุกข์ กำจัดภัย กำจัดโรค

     ทฤษฎีเป็นอย่างนี้ ยุคเรา สมัยเรา กิเลสมีภูมิคุ้มกันสูง ในหลายรูป หลายแบบ เกาะกินใจคนของเรา เราจะแก้เพียรธรรมที่พูดกันไปเข้าหูซ้าย ออกหูขวาไม่ได้แล้ว จะนำข้อธรรม ให้พวกเราท่อง  วันละ ๓ เวลา ไม่ได้แล้ว จะเอามาเสกข้าวกิน ไม่ได้แล้ว เพราะมันไม่เกิดแก่จิต ไม่เกิดแก่ใจ  หิริโอตตัปปะเกิดแก่ใจได้อย่างไร เสียเวลา ได้ไม่เท่าเสีย ถ้าจะให้คนของท่านดี ต้องว่ากันถึงธรรมกาย

     วิธีอบรมใจคน ต้องฝึกกันตามวิธีการ และมีกรรมวิธีวัดผลเป็นขั้นเป็นตอน ให้เป็นงานเป็นการขึ้นมาแม้ทำได้ไม่มาก แต่ก็เคยสัมผัส เห็นว่าดีกว่าการอบรมประเภท ปาฐกถาและการเทศนา เพราะการเทศน์และการปาฐกถา ได้แต่สัมผัสหู ไม่สัมผัสใจ อาจเป็นของดีในกาลก่อน แต่ยุคจรวดนี้เห็นว่าการฝึกตามแนววิชชาธรรมกายได้ผลดีมาก

     ๑๐. ธรรมกาย คือ ที่พึ่งของสัตว์โลก

    - เมื่อเป็นธรรมกายแล้ว คือเห็นธรรมกายด้วยใจในท้องของตน ขนาดหน้าตักกว้าง ๒๐ วา สูง ๒๐ วา เกตุดอกบัวตูม เห็นทั้งหลับตาลืมตาในอิริยาบถ ๔คือ ยืน เดิน นั่ง นอน สำหรับอิริยาบถนอน  จะเห็นธรรมกายไสยาสน์อยู่ในท้องของเรา สภาพท้องของเรา เวลาที่เห็นธรรมกายนั้น มีสภาพเป็น “สุญญตา” กว้างใหญ่ไพศาลประดุจท้องฟ้า แม้องค์ธรรมกาย ๑๐๐ วา ก็ไปอยู่ในท้องของเราได้ ถามว่าความเวิ้งว้างอยู่ที่ไหนตอบว่าอยู่กลางดวงธรรม พอจุดใสเท่าปลายเข็มกลางดวงธรรมว่างไป ก็เกิดสภาวะสุญญตาตรงนั้น เห็นธรรมกายตรงไหน ตอบว่าเห็นในสุญญตานั้น ดวงธรรมอยู่ที่ไหน ตอบว่า  อยู่ในท้องตรงศูนย์กลางกาย ดังนั้น จึงพูดรวมความว่า เห็นธรรมกายในท้อง ให้เป็นที่เข้าใจกันทั่วไป

     - คำถามมีว่า ท้องของเราเล็กนิดเดียว เหตุใดธรรมกายองค์ใหญ่จึงอยู่ในท้องได้ คงหมดความข้องใจ เพราะเห็นด้วยใจ ใจเห็นดวงธรรมในท้อง กลางดวงธรรม มี “กลาง” (จุดใสเท่าปลายเข็ม) พอกลางคือจุดใสเล็กหายไป เกิดสภาพความว่าง เป็นความเวิ้งว้างอันไพศาล สภาพความเวิ้งว้างอันไพศาลคือสุญญตา เราเห็นธรรมกายในว่างอันนั้น

     - ให้ทำใจหยุดและนิ่งไว้ จะทำอะไร ก็ถามพระธรรมกาย ธรรมกายพูด “ดัง” ถ้าใจหยุดจริงและนิ่งจริง จะได้ยินชัดเจน แต่ถ้าใจเราหยุดและนิ่งน้อยไป จะไม่ได้ยิน ติดขัดอะไรถามได้ จะให้ช่วยอะไร  ก็บอกเล่าเก้าสิบเอา ถ้าอยากให้พระองค์แสดงธรรม พึงทำใจหยุดนิ่งและฟังให้ดีเถิด ธรรมกายวิเศษอย่างนี้ หากถึงวาระที่เราจะตาย องค์ธรรมกายเป็นที่พึ่งของเราในยามคับขันนั้น ใจของเรายึดธรรมกาย
ได้แล้ว จะไปสุคติทันที ทุคติหรืออบายภูมิ ไม่ต้อนรับเอาอีกต่อไป

     แต่ถ้าเราไม่เห็นธรรมกาย อบายภูมิคือ นรกเรียกเราอยู่ตลอดเวลา ยังต้องการเราอยู่ตลอดเวลา  รอว่าเมื่อไรจะตาย ตายเมื่อไร ไปนรกเมื่อนั้น ไม่มีอะไรไปสู้นรกได้เลย จะเอาปืนเอาระเบิดไปสู้ ก็สู้ไม่ได้  จะเอาความมีอำนาจหรือยศศักดิ์ หรือเอาความร่ำรวยไปสู้นรก ก็สู้ไม่ได้

          ที่จะสู้นรกได้ ก็ธรรมกายเท่านั้น

          ผู้ปิดอบายภูมิ คือ ธรรมกาย

          ขอแต่ว่าฝึกให้เห็น ทำให้เป็นเถิด

          เด็กเล็กอายุ ๓ ขวบ ก็ทำได้ นักเรียน ก็ทำได้

          นิสิต นักศึกษา ก็ฝึกได้ เรียนได้

          เรียนได้ ฝึกได้ ทุกระดับชั้น

     อันเกิดจากประสบการณ์ ที่ใดมีกลียุค พอเรียนธรรมกายกันแล้ว กลียุคระงับ วัดใดโรงเรียนใดยากจน พอฝึกธรรมกายเข้า ความจนกลายเป็นความมั่งมี ความแร้นแค้นกลายเป็นความสมบูรณ์ ผมมีหน้าที่ฝึก ที่ใดเชิญก็ไปทำธุระให้ เป็นเวลามากกว่า ๒๐ ปี อานุภาพของธรรมกายช่วยสังคมได้จริง  ให้เกิดความสงบขึ้นจริง ให้ความสุขแก่ผู้ปฏิบัติจริง  แต่ว่าต้องทำจริง อย่าทำเล่น ควรให้โอกาสตนเองบ้าง

     ๑๑. เราเกิดมาแล้ว เราไม่พบพระพุทธเจ้า

     - ยุคที่เรามาเกิด เราไม่พบพระพุทธเจ้า ไม่เคยเห็นหน้าตาของพระองค์ ไม่ทราบว่าหน้าตากายมนุษย์ของพระองค์เป็นอย่างไร เป็นเวรเป็นกรรมของเราอย่างหนึ่งเหมือนกัน ที่เกิดมาไม่ทันพระองค์พบแต่ศาสนาของพระองค์ ได้เรียนคำสอนของพระองค์ เท่านั้น

     - แต่เป็นโชคดีที่ได้พบธรรมกายของพระองค์ ตามที่ตรัสว่า “ผู้ใดเห็นดวงธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ตถาคตคือธรรมกาย”

     - เมื่อเข้าถึงธรรมกายแล้ว แปลว่า เข้าถึงพระรัตนตรัยแล้ว ความทุกข์ยากจะได้หมดไป

     - ความทุกข์มีทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและบั้นปลาย เมื่อเป็นธรรมกายแล้ว จะต้องเรียนวิชชาธรรมกายให้สูงขั้นไป เพื่อจะได้ความรู้นั้นมากำจัดทุกข์ กำจัดภัย กำจัดโรค ตามระดับแห่งความยากง่ายของทุกข์ภัยนั้นๆ

     - อย่าทอดธุระ เรียนแค่เห็นดวงธรรม เรียนแค่เห็นธรรมกาย หรือเรียนแค่ไปเห็นนรก สวรรค์ นิพพาน แล้วก็พอใจ

     - เรียนเท่านี้ไม่ได้ ต้องเรียนสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จึงจะได้วิชชามาสู้กับความทุกข์ร้อน เพราะความทุกข์ร้อนบางอย่าง ต้องแก้ด้วยความรู้ชั้นสูง ถ้าความรู้ต่ำ จะสู้ทุกข์ร้อนนั้นไม่ได้ ต้องสู้กับด้วยวิชชาชั้นสูง  จึงจะชนะทุกข์ขั้นอุกฤษฏ์ได้

 

จากหนังสือ ผู้ใดเห็นดวงธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ตถาคตคือธรรมกาย หน้า 33  :  อ่านทั้งหมด | หน้าแรก