ปราบมาร 3

วิชาปราบมารเป็นวิชาธรรมกายชั้นสูง

     วิชาธรรมกาย มีทั้งระดับความรู้เบื้องต้น ความรู้ระดับกลาง และความรู้ชั้นสูง ยากต่อการแยกแยะว่าความรู้ใดเป็นความรู้เบื้องต้น ความรู้ใดเป็นความรู้ระดับกลาง และความรู้เช่นไร จึงเรียกว่า ความรู้ชั้นสูง

     ในทางโลกนั้น มีการกำหนดระดับความรู้ เรียกว่า การกำหนดหลักสูตร ได้แก่ การศึกษาระดับอนุบาล การศึกษาระดับประถมศึกษา การศึกษาระดับมัธยมศึกษา การศึกษาระดับอุดมศึกษา การศึกษาแต่ละระดับก็จัดหลักสูตรว่ามีวิชาอะไรบ้าง มีเนื้อหาความรู้อะไร ดังที่เราท่านทราบแล้ว ซึ่งเราก็ผ่านการศึกษาดันมาแล้ว

     เรื่องวิชาธรรมกายก็แนวเดียวกัน เพียงแต่เรายังไม่ได้เอาวิชามาแบ่งหมวดหมู่ เพื่อนำมาแยกเป็นหลักสูตรระดับต่าง ๆ

แนวคิดในการกำหนดหลักสูตรวิชาธรรมกาย

      ธุระในพระศาสนามี ๒ ธุระ คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ ซึ่งคันถธุระได้แก่ การศึกษาปริยัติธรรม แบ่งเป็น ๒ แผนก คือ แผนกนักธรรมและแผนกบาลี แผนกนักธรรมคือ นักธรรมตรี นักธรรมโท และนักธรรมเอก ส่วนแผนกบาลีนั้น ได้แก่ เปรียญธรรม ๓ ประโยคถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค เปรียญธรรม ๓-๕ เรียกเปรียญธรรมตรี เปรียญธรรม ๖-๗ เรียกเปรียญธรรมโท เปรียญธรรม ๘-๙ เรียกเปรียญธรรมเอก

      วิปัสสนาธุระ คือ การศึกษาด้านจิตใจเพื่อให้แจ้งนิพพาน ยังไม่มีการกำหนดหลักสูตร ได้แต่มีการเรียนกันเอง แบบตามมีตามได้ แต่ทางคณะสงฆ์ก็ยอมรับ ภิกษุรูปใดมีความสนใจในการเจริญภาวนา ไม่ว่าจะภาวนาแบบใด เวลาเลื่อนยศก็มักจะได้รับพระราชทานนามเป็นนามทางวิปัสสนา เช่น พระครูภาวนาภิรมณ์ พระภาวนาโกศล พระญาณวิโรจน์ พระสุธรรมญาณ เป็นต้น ชื่อราชทินนามบ่งบอกว่าเป็นวิปัสสนาธุระ

     ครั้งเรามาทบทวนว่าเรียนวิปัสสนาระดับใดจึงได้ราชทินนามอย่างนี้ มีหลักสูตรทางศาสนาให้เรียนอย่างไรหรือไม่ มีการสอบสนามหลวงหรือเปล่า ก็ตอบว่า ไม่มี เมื่อไม่มีหลักสูตรและไม่มีการวัดผล เหตุใดเราจึงถวายราชทินนามแก่ภิกษุอย่างนั้น ยังไม่มีใครให้คำตอบ

     แต่ข้าพเจ้าเป็นศึกษาธิการ ทำหน้าที่แทนกรมศาสนา ได้ช่วยให้ข้อคิดแก่กรมไปว่า หลักสูตรว่าด้วยวิปัสสนาน่าจะคิดได้แล้ว และทำตำราได้แล้ว กำหนดเป็นหลักสูตรได้แล้ว เรียนกันได้แล้ว วัดผลกันได้แล้ว จะล่าช้าอยู่ทำไม ขนล่าช้า วิปัสสนาธุระ ก็ตายด้านอยู่อย่างนั้น ส่งผลกระทบต่อสังคมมาก คือ ใจคนของเราด้อยคุณธรรมกันทุกวัน คนทำบาปกันมากขึ้น จะอยู่กันไม่ได้อยู่แล้ว ทุกอย่างและทุกเรื่องต้องออกกฎหมายบังคับกันหมด เพราะกฎหมายคือ ข้องบังคับความประพฤติ ใครละเว้นถูกกฎหมายลงโทษ บานเมืองที่ด้อยคุณธรรมจำต้องปกครองกันโดยกฎหมาย

     กล่าวถึงการนำวิชาธรรมกายมากำหนดเป็นหลักสูตรวิปัสสนาธุระนั้น มีแนวคิดดังนี้

     - แผนกนักธรรม ก็ทำตำราวิปัสสนานักธรรมตรี วิปัสสนานักธรรมโท และวิปัสสนานักธรรมเอก รวม ๓ เล่ม

     - แผนกเปรียญธรรม ก็ทำตำราเปรียญธรรมตรี เปรียญธรรมโท และเปรียญธรรมเอก รวม ๓ เล่ม

แนวการเขียนหลักสูตร

      จะเขียนอย่างไร นี่คือเรื่องใหญ่ เนื้อหาควรเป็นปริยัติ คือ ทฤษฎี ว่ามีอย่างไร บรรยายความรู้ปริยัติคือ ทฤษฎีไปก่อน เสร็จแล้วนำมาสู่ภาคปฏิบัติทางใจ ว่ามีวิธีการอย่างไร มีปฏิบัติการอย่างไร แล้วบอกวิธีวัดผล ว่าทำได้อย่างไรหรือไม่ ใครผ่านบทฝึกใดแล้ว เก็บข้อมูลไว้ ให้คะแนนไว้ เราก็จะทราบว่า ใครฝึกได้อะไร และแค่ไหน

เอกสารข้อมูลที่จะนำมาเขียน จะได้จากที่ใด

     เอกสารข้อมูลที่ใช้เขียนหลักสูตร ก็คือ หนังสือของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ๓ เล่ม หากรวมคำเทศน์ด้วยจะดีมาก นำความรู้เหล่านี้มาทำหลักสูตร ก็จะได้หลักสูตร ๖ เล่ม โดยไม่ยากอะไรเลย

     คนที่เป็นธรรมกายแล้ว ทำได้ทุกคน จะยากตรงไหน ก็เราเรียนมาแล้วทั้งนั้น เพียงแต่นำปริยัติมาทำเป็นบทฝึกทางใจเท่านั้น เราก็บอกว่า ทำได้อย่างนี้ จะเห็นอะไร จะรู้อะไร จะได้อะไร ไม่เห็นว่ายากตรงไหน แต่ถ้าทำธรรมกายไม่เป็นแล้ว อย่างนี้ยากแน่

     หากจะได้เป็นการเป็นงาน ก็ต้องเอาคนที่มีความรู้ทางบาลีมาช่วยค้นคว้า ความรู้ว่าอย่างนี้ อยู่ในเปรียญธรรมประโยคอะไร ค้นเรื่อง ค้นถ้อยคำ แล้วนำมาเรียบเรียง เรื่องก็มีเท่านี้

ความคิดที่เราจะทำตำราวิปัสสนาธุระนั้น เสนอกรมการศาสนาไปแล้ว

     โดยเหตุที่ข้าพเจ้าเป็นศึกษาธิการ มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์องค์เณรอยู่บ้าง คือ กรมการศาสนาจัดประชุมพระจริยานิเทศและพระปริยัตินิเทศที่จังหวัดจันทบุรี กรมการศาสนาเคยชวนให้เป็นวิทยากรวิชาพัฒนาจิตใจคู่กับท่านเจ้าคุณรองเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี ในการนี้ ข้าพเจ้าได้ถวายหนังสือเผยแพร่วิชาธรรกมายแก่พระสงฆ์ตลอดเวลา

     ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ กรมการศาสนาจัดประชุมพระจริยานิเทศที่จังหวัดจันทบุรี บังเอิญงานนี้ข้าราชการสำคัญของกรมการศาสนา ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงต่อการศึกษาของพระสงฆ์มาร่วมงานด้วย ท่านผู้นั้นคือ อาจารย์นำทรัพย์ จันทร์หอม ผู้อำนวยการกรมศาสนศึกษา เห็นข้าพเจ้าคุยกับพระสงฆ์ เกี่ยวด้วยเรื่องหนังสือวิชาธรรมกายที่ข้าพเจ้าถวายพระ จึงชวนข้าพเจ้าสนทนาถึงเรื่องวิชาธรรมกาย เพราะหนังสือที่แจกคือ หนังสือเผยแพร่วิชาธรรมกาย ข้าพเจ้าคุยไปว่า เรื่องวิปัสสนาธุระคือ เรื่องทำนิพพานให้แจ้ง คือ เรื่องพัฒนาคุณธรรมให้เกิดแก่ใจคน ก็คือ เรืองของวิชาธรรมกาย เราต้องสร้างหลักสูตรขึ้น เราต้องสร้างวิทยากรขึ้น งานวิปัสสนาธุระจึงจะดำเนินไปได้

     ทุกวันนี้ ธุระของสงฆ์ทำได้ธุระเดียว คือ ทำแต่คันถธุระเท่านั้น

     ขาดงานวิปัสสนาธุระ เพราะไม่มีตำราและไม่มีวิทยากร กรมศาสนศึกษาซึ่งมีหน้าที่โดยตรง ควรเริ่มดำริทำ หนังสือที่ผมแจกแก่พระเณรนี้ เป็นการเผยแพร่ส่วนตัวของผม กรมการศาสนาไม่ได้ช่วยเหลืออะไรผมเลย ปรากฏว่า อาจารย์นำทรัพย์ จันทร์หอม รับว่าหากท่านได้เลื่อนเป็นรองอธิบดีกรมการศาสนาแล้ว ท่านจะช่วยพิมพ์หนังสือเผยแพร่ให้

     ปรากฏว่า อาจารย์นำทรัพย์ จันทร์หอม ได้เลื่อนเป็นรองอธิบดีกรมการศาสนา แต่ท่านได้ช่วยผมตามที่ท่านเคยปรารภไว้ ในช่วงนั้นเองอาจารย์จำเริญ เสกธีระ ได้เป็นอธิบดีกรมการศาสนา ท่านไปราชการที่จังหวัดจันทบุรี ข้าพเจ้าได้นำเรื่องที่อาจารย์นำทรัพย์ จันทร์หอม ขึ้นกล่าว ว่าท่านนำทรัพย์ จันทร์หอม ได้เป็นรองอธิบดีกรมการศาสนาแล้ว จะช่วยพิมพ์หนังสือเผยแพร่วิชาธรรมกายให้ ท่านจำเริญ เสกธีระ รับว่าจะไปเตือนแก่รองนำทรัพย์ จันทร์หอม วันนั้นข้าพเจ้าได้มอบหนังสือ “พระศาสดาพาเราสู่ความเป็นอารยะ ให้เราสุขภาพดี เกิดสันติสุขแก่โลก ด้วยวิธีการอย่างไร” และหนังสือ “อภินิหารหลวงพ่อวัดปากน้ำ” แก่อาจารย์จำเริญ เสกธีระ ไปหลายเล่ม

     แต่อาจารย์นำทรัพย์ จันทร์หอม เป็นรองอธิบดีกรมการศาสนาได้ไม่นาน ก็เกษียณราชการ ไม่ทันได้ช่วยอะไรแก่ข้าพเจ้า

     สรุปแล้ว งานเขียนหลักสูตรวิชาธรรมกาย ยังไม่ได้ทำ และเป็นปัญหาติดค้างมาจนทุกวันนี้

     เรื่องราวของการเขียนหลักสูตรวิชาธรรมกายมีปรากฏอยู่ในหนังสือ “พระศาสดาพาเราสู่ความเป็นอารยะ ให้เราสุขภาพดี เกิดสันติสุขแก่โลก ด้วยวิธีการอย่างไร” แล้ว โปรดติดตามหาอ่านได้

งานเขียนหลักสูตรวิชาธรรมกายลงทุนไม่มากเลย

     ถามว่างานเขียนหลักสูตรวิชาธรรมกาย ใช้เงินมากหรือไม่ ตอบได้เลยว่า ไม่มาก

     ถามต่อไปอีกว่า งานเขียนหลักสูตรวิชาธรรมกายนั้น ใช้คนมากหรือไม่ ตอบได้เลยว่า ไม่มาก ขอเพียง ๒ คน โดยเราเป็นตัวยืน ทำหน้าที่ให้ความรู้ในทางปฏิบัติ ส่วนอีกคนนั้น ก็คือ ขอพระเปรียญธรรม ให้ช่วยค้นคำบาลี คือ เราอยากรู้ว่า เนื้อหาความรู้วิชาธรรมกายเรื่องใด มีคำบาลีกล่าวไว้ในที่ใด อยู่ในหลักสูตรเปรียญธรรมชั้นใด เพื่อนำความรู้นั้นมากล่าวเป็นภาคปริยัติ คือ เป็นภาคทฤษฎี ส่วนภาคปฏิบัตินั้นไม่ยากเลย เพราะหลวงพ่อวัดปากน้ำทำไว้แล้วเราก็ยกเอาภาคปฏิบัติออกมาเป็นบทฝึก เพียงแต่เราอธิบายความรู้ที่หลวงพ่อท่านทำไว้มาย่อยแยกทำให้ง่ายเข้า เรื่องก็เท่านี้เอง ส่วนความรู้ด้านปฏิเวธ คือเมื่อฝึกแล้ว ปฏิบัติแล้ว เป็นอย่างไรนั้น เราจะเป็นผู้เขียนเอง ถึงจะไม่ดีอย่างที่หลวงพ่อท่านเห็นท่านเข้าใจ แต่ก็พอฟังได้ เพราะเราก็เรียนวิชาธรรมกาย มีชั่วโมงบินมานานโข

     โปรดดูหนังสือ “วิธีสอนและเทคนิควิธีฝึกให้เป็นธรรมกาย” (คู่มือวิปัสสนาจารย์) ที่ข้าพเจ้าทำไว้นั้น ไม่ว่าใครชมว่าดีทั้งนั้น

     เล่มโตปานนั้น นั่นคือ เดินวิชา ๑๘ กาย ของหลวงพ่อเท่านั้น ยังไม่ได้เติมความรู้อื่นลงไปเลย

     ขึ้นชื่อว่าวิชาธรรมกายแล้ว ยากทั้งนั้น เรียนยากทั้งนั้น เข้าใจยากทั้งนั้น

     หากเรานำมาทำตำราให้แก่กรมการศาสนา ตามที่กล่าวแล้ว ไม่ทราบว่าเล่มจะโตขนาดไหน เพราะต้องเพิ่มคำบาลีเข้าไปอีก

     ความยากอยู่ที่ว่า การวัดผลเราจะวัดกันอย่างไร หากวัดทั้งข้อเขียนและวัดการปฏิบัติด้วย เนื้อหาของหนังสือจะต้องมาก เพราะจะต้องบรรจุความรู้ให้ตอบคำถามด้วย รวมความว่า เราต้องสอนครูและสอนนักเรียนด้วยนั่นเอง

มีความคิดแต่ไม่มีกำลังก็ทำอะไรไม่ได้

     งานทำตำราวิปัสสนาธุระไม่ได้นี้ คือ ความเสียใจใหญ่หลวงของเรา

     ตัวเรานี้มีประโยชน์น้อยนัก น้อยใจในชะตากรรม ที่ตัวเรานี้ขัดสนเกินไป หากเรามีกำลังเหมือนคนอื่น ป่านนี้ตำราวิปัสสนาธุระจะต้องออกมาแล้วหลายระดับ ถึงจะไม่ครบระดับ ก็ต้องออกมาได้บ้าง จะต้องเขียนออกมาให้บัณฑิตได้ชมกันบ้าง

     อายุของเราปูนนี้แล้ว งานทำตำรายังไม่ได้อะไรเลย

     ส่วนตำรารวม เพียงแต่พอแก้ขัด ข้าพเจ้าทำไว้พอสมควร

ความจริงกรมการศาสนาก็ทราบว่า เรายังไม่ได้จัดการศึกษาวิปัสสนาธุระ

     กองศาสนศึกษา คือ กองที่จัดเงินงบประมาณจัดการศึกษาให้แก่สงฆ์ไทย อยู่ในสังกัดกรมการศาสนา ซึ่งครั้งนั้นอาจารย์นำทรัพย์ จันทร์หอม เป็นผู้อำนวยการกอง ท่านทราบเป็นอันดี ว่าเรายังไม่ได้จัดการศึกษาวิปัสสนาธุระ หน้าที่ของกองนี้เพียงแต่จัดเงินงบประมาณด้านปริยัติธรรมอย่างเดียว

     ความจริงแล้ว ทั้งท่านอธิบดีคือ อาจารย์จำเริญ เสกธีระ และรองอธิบดี คือ อาจารย์นำทรัพย์ จันทร์หอม (เพิ่งเลื่อนขึ้นมาเป็นรองอธิบดี) ต่างก็รู้จักข้าพเจ้า หนังสือวิชาธรรมกายของข้าพเจ้าอยู่ในมือของท่านแล้ว การประชุมผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ หนังสือวิชาธรรมกายของข้าพเจ้า แจกกันจนหมดมือ ที่แน่ ๆ ก็คือ ศึกษาธิการอำเภอได้รับทั่วประเทศ และผู้ช่วยศึกษาธิการเขต ผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดได้รับทั่วประเทศ วัดในประเทศไทยมีหนังสือวิชาธรรมกายของข้าพเจ้า ถึงจะไม่ทั่วประเทศแต่ก็เกือบทั่ว

     ค่านิยมที่ท่านอธิบดีและรองอธิบดีที่มีต่อข้าพเจ้า รวมทั้งค่านิยมที่ข้าราชการมีต่อข้าพเจ้า ต้องว่าพอสมควรแล้ว

     แต่จะให้ถึงขั้นนำเรื่องเสนอต่อมหาเถรสมาคม เพื่อนำวิชาธรรมกายมาเป็นหลักสูตรให้สงฆ์ไทยเรียนวิปัสสนาธุระ อย่างนี้ ท่านอธิบดีคงทำให้ไม่ได้ ถึงท่านอธิบดีจะเป็นธรรกมาย ก็คงเป็นการเรียนส่วนตัวเท่านั้น จะถึงแก่นำเรื่องเสนอต่อมหาเถรสมาคมคงทำไม่ได้ ดูว่ามีเรื่องที่จะขัดข้องมากอยู่

     ในโอกาสที่ชีวิตราชการของข้าพเจ้า มีเรื่องวิชาธรรมกายไปถึงข้าราชการระดับผู้ใหญ่ในกรมการศาสนา ตามที่บรรยายมานั้น นับว่าให้เกียรติแก้ข้าพเจ้ามากแล้ว ข้าราชการเล็ก ๆ อย่างข้าพเจ้า มีตำแหน่งราชการเป็นเพียงผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดเท่านั้น ท่านทั้งหลายให้ความเชื่อถือความรู้วิชาธรรกมายของข้าพเจ้า และบางกรมเชิญข้าพเจ้าไปอบรมผู้บริหารการศึกษา ถือว่าให้เกียรติแก่ความรู้วิชาธรรมกายของข้าพเจ้าแล้ว

     บัดนี้ หน้าที่ราชการของข้าพเจ้าจะถึงคราวเกษียณอายุราชการ ข้าพเจ้าคงไม่มีโอกาสได้รับใช้อีกแล้ว

     สรุปแล้ว ยังเขียนหลักสูตรวิปัสสนาธุระไม่ได้

     งานนี้ จึงตกเป็นหน้าที่ของคนยุคหลังต่อไป

     ไม่ใช่ข้าพเจ้าไม่ทำ ข้าพเจ้าทำแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ

 

 

บางส่วนจากหนังสือ ปราบมาร 3 หน้า 1 :  อ่านทั้งหมด | หน้าแรก