สรุปเรื่องความต้องการของมนุษย์

      เราได้เรียนเรื่องความต้องการของมนุษย์  และความต้องการของนักบวชมาแล้ว  ว่ามีความต้องการอะไร  ความต้องการเหล่านั้นเราสามารถทำขึ้นได้หรือไม่  ตอบว่า  เราสามารถให้ความต้องการเหล่านั้นมีขึ้นได้จริง  โดยการพัฒนาใจตามแนวของพระศาสดา

     แต่เรายังไม่ได้เรียนวิธีพัฒนาใจว่าทำอย่างไร? ยังไม่ได้เรียนวิธีปฏิบัติว่าปฏิบัติอย่างไร?  และยังไม่ได้เรียนถึงการวัดผลอย่างไร?  เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องยาว  จะได้กล่าวต่อไป

     ในขั้นนี้  เรามาทำความข้องใจของเราให้ยุติเสียก่อน  ความข้องใจของเรามีอยู่ว่า  การพัฒนาใจมนุษย์ช่วยแก้ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างได้จริงหรือ?  พระศาสดาได้กล่าวยืนยันไว้ที่ไหนและอย่างไร?

     พระศาสดาทรงกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก (ขุ. ธ. ๒๕/๒๔/๔๒) เป็นคำบาลีว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ  แปลได้ความว่า “สุขอื่นใดไม่เท่าความสงบแห่งใจ” หมายความว่า  ความสุขใดๆ ในโลก  สู้ความสุขเกิดจากใจสงบไม่ได้  นี่คือ  ความสงบทางใจเป็นความสุขอันเลิศไม่มีความสุขใดๆเทียบได้

     พระศาสดาทรงกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก (ขุ. ธ. ๒๕/๑๑/๑๕) เป็นคำบาลีว่า  มโนปุพฺพงฺคมา  ธมฺมา  มโนเสฏฺฐา  มโนมยา  สิ่งทั้งหลายมีใจปกครอง  ใจเป็นใหญ่กว่าอะไรทั้งหมด  ความสำเร็จทั้งปวงที่มีขึ้น  ใจเป็นผู้สั่ง

 

     สิ่งที่มีชีวิตเท่านั้นจึงจะมีใจปกครอง  สิ่งที่ไม่มีชีวิตไม่มีใจปกครอง  ดังนั้น  สิ่งที่ไม่มีชีวิตจึงทำอะไรไม่ได้  เพราะไม่มีใจสั่ง  ดูตัวเรา  เรายังไม่ตาย  เพราะมีใจปกครอง  ใจปกครองกาย  ใจสั่งให้กายทำอะไรได้  ใจสั่งให้กายวิ่ง  เราก็ต้องวิ่ง  ใจสั่งให้กายนอน  เราก็ต้องนอน  แต่ถ้าเราตาย  กายของเราหมดความรู้สึก  เพราะใจไม่อยุ่ปกครองกาย  ใจออกจากร่างกายไปแล้ว  ไปแล้วไม่กลับมา  ทิ้งกายไปเลย  กายก็เน่าเปื่อย  ทำอะไรไม่ได้  กระดุกกระดิกไม่ได้เพราะไม่มีใจสั่ง

     จากความรู้ของพระศาสดาที่ยืนยันว่า  ไม่มีความสุขใดเท่าความสุขเกิดจากใจสงบ  และยืนยันว่า  สิ่งทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่  ใจย่อมทำหน้าที่เป็นประธาน  การใดๆสำเร็จด้วยใจทั้งสิ้น  ดังนั้น  จึงสรุปได้ว่า  การพัฒนาใจตามแนวของพระศาสดานั้น  สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง  ทั้งปัญหาของตัวเอง  และปัญหาของโลก

การพัฒนาใจตามแนวของพระศาสดาแก้ปัญหาได้จริง 

     สภาพใจที่สงบสามารถแก้ปัญหาให้แก่ตัวเองมากหลาย  และแก้ปัญหาสังคมได้ด้วย  ตามที่กล่าวแล้วนั้น  หากพัฒนาใจให้ยิ่งขึ้นไปสามารถเข้าถึงธรรมวิเศษได้ด้วย  และเมื่อเข้าถึงธรรมวิเศษได้แล้วย่อมเกิดประโยชน์ยิ่งใหญ่  เกิดอานิสงส์อันใหญ่อย่างที่เราไม่คิดมาก่อนว่าเราจะโชคดีถึงปานนั้น

     พระศาสดากล่าวถึงประโยชน์ของการพัฒนาใจไว้มาก  ดังนี้

๑.) จิตฺตสฺส  ทมโถ  สาธุ   การฝึกจิตเป็นการดี

 

๒.) จิตฺตํ  ทนฺตํ  สุขาวหํ    จิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้ 

                                      (ขุ. ธ. ๒๕/๑๓/๑๙)

๓.) จิตตํ รกฺเขถ เมธาวี    ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิต

๔.) จิตตํ คุตฺตํ สุขาวหํ     จิตที่คุ้มครองดีแล้วนำสุขมาให้

                                      (ขุ. ธ. ๒๕/๑๓/๑๙)

๕.) มนสา  สํวโร  สาธุ     การสำรวมใจเป็นการดีแล้วนำสุขมาให้

                                      (ขุ. ธ. ๒๕/๓๕/๖๔)

๖.) มโนปโกปํ  รกฺเขยฺย    พึงรักษาความกำเริบทางใจ

๗.) มนสา  สํวุโต  สิยา     พึงเป็นผู้ระวังทางใจ

๘.) มโนทุจฺจริตํ  ทุตวา     พึงละมโนทุจริต

๙.) มนสา  สุจริตํ  จเร      พึงประพฤติสุจริตทางใจ

                                      (ขุ. ธ. ๒๕/๒๗/๔๖)

๑๐.)จิตฺเต  สงฺกิลิฎฺเฐ  ทุคฺคติ  ปาฎิกงฺขา

       เมื่อจิตเศร้าหมอง  ทุคติเป็นอันหวังได้ (ม. มู. ๑๒/๙๒/๖๔)

๑๑.)จิตฺเต  อสงฺกิลิฏฺเฐ  สุคติ  ปาฏิกงฺขา

       เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง  สุคติเป็นอันหวังได้

๑๒.)เย  จิตฺตํ  สญฺญเมสฺสนฺติ  โมกฺขนฺติ  มารพนฺธนา

       ผู้ที่สำรวมจิตจึงจะพ้นบ่วงมาร (นัย. ขุ. ธ. ๒๕/๑๓/๑๙-๒๐)

     จะเห็นได้ว่า  พระศาสดาสอนให้พัฒนาใจ  ให้ใจมีสภาพใจสูง  ให้ระวังทางใจ  ให้ใจมีสภาพใจสูง  ให้ระวังทางใจ  คนที่พัฒนาใจไม่ได้  ย่อมโชคร้าย  คือใจเขามัวหมอง  หากตายไปจะตกนรก  แต่คนที่มีความเพียร  สามารถพัฒนาใจให้สว่างได้  เมื่อตายไป  เขาจะสู่สวรรค์

 

บางส่วนจากหนังสือ ทางรอดของมนุษย์ฯ หน้า 8  :  อ่านทั้งหมด | หน้าแรก