งานของหลวงพ่อเมื่อเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

งานของหลวงพ่อเมื่อเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

     ข้อมูลที่ควรทราบ

     คือ ข้อมูลการศึกษาของหลวงพ่อ ตั้งแต่บวชเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ที่วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี แล้วมาอยู่วัดพระเชตุพนฯ และจากวัดพระเชตุพนฯ ก็มาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙

     ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๙-๒๔๕๙ หลวงพ่อได้ศึกษาปริยัติธรรม และศึกษาวิปัสสนาธุระคู่กันมา

     ผลการศึกษาด้านปริยัติธรรมหรือคันถธุระนั้น หลวงพ่อศึกษาได้พอแก่ความต้องการของหลวงพ่อแล้ว

     ผลการศึกษาด้านวิปัสสนาธุระนั้น หลวงพ่อได้บรรลุวิชา สจิตฺตปริโยทปนํ (การทำใจให้ใส ตามคำสอนของพระศาสดาข้อที่ ๓) จนได้บรรลุวิชาธรรมกาย

     เป็นอันว่า หลวงพ่อเสร็จภารกิจธุระทั้ง ๒ ของพระศาสนา เมื่อเสร็จการศึกษาแล้ว ก็เป็นการทำงานต่อ หลวงพ่อได้รับบทหนักคือ บทของเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ พระอารามหลวง หลวงพ่อจะแสดงบทบาทอย่างไร ดังจะกล่าวต่อไปนี้

เมื่อถึงวัดปากน้ำ

ได้อธิษฐานใจต่อพระประธานในอุโบสถทันที

     สมเด็จพระสังฆราชป๋า ทรงนิพนธ์ไว้ว่า เมื่อหลวงพ่อถึงวัดปากน้ำ ก็ได้อธิษฐานใจต่อพระประธานในพระอุโบสถ “ภิกษุใดยังไม่มา ขอให้มา เมื่อมาแล้ว ขอให้เป็นสุข” เป็นเรื่องที่เราควรศึกษา เพราะเราไม่เคยได้ยินได้ฟังที่ไหน เมื่อเราได้ทราบ ความคิดหนึ่งเกิดแก่เราว่า ถ้าเราเป็นเจ้าอาวาสบ้าง เราจะทำอย่างนั้นหรือไม่ เราทราบว่าดี แต่เราไม่มีความรู้ ก็ทำอย่างนั้นไม่ได้

     หลวงพ่อได้แบบอย่างมาจากไหนหรือ จึงอธิษฐานเช่นนั้น ถ้าให้ข้าพเจ้าตีความ ข้าพเจ้าก็ต้องพูดว่า ขึ้นชื่อว่าโพธิสัตว์แล้ว ย่อมมีความคิดไม่เหมือนใคร แต่ความคิดนั้น สรุปแล้วล้วนแต่จะสงเคราะห์เขาอื่นทั้งนั้น

แรงอธิษฐานของหลวงพ่อปรากฏผลทันตาเห็น

     ปรากฏว่า พระเณรหลั่งไหลมาอยู่วัดปากน้ำมากมาย ไม่ใช่พระเณรเท่านั้น อุบาสกอุบาสิกา ก็มาด้วย ไม่ใช่แค่นั้น แถมเด็กวัดตามมาอีก

     เป็นภาระแก่หลวงพ่อใหญ่หลวง ที่ผู้คนจำนวนมากมาสู่ หลวงพ่อจะบริหารงานอย่างไรในฐานะที่เป็นเจ้าอาวาส ทั้งเรื่องของการศึกษา เรื่องของที่อยู่อาศัย เรื่องของการกินอยู่ เรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วย เท่าที่ทราบจำนวนผู้มาสู่ จากร้อยเป็นหลายร้อย นับเบ็ดเสร็จคงเป็นพัน

     ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเรื่องอาหารการกิน และยารักษาโรค หลวงพ่อจะต้องจัดหาให้ และต้องบริหารด้วย เห็นจะมีก็แต่วัดปากน้ำเท่านั้น ที่มีสมณะมาสู่มากมายขนาดนี้ ข่าวนี้ทราบไปถึงที่ไหน เขาต่างหนักใจแทนหลวงพ่อวัดปากน้ำกันทั่ว

     เราทราบแล้วว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำคิดอะไรไม่เหมือนเรา คติของพระศาสนามี ๒ อย่าง คือ คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ หากธุระทั้ง ๒ มีขึ้นที่ไหน ที่นั่นชื่อว่าสืบต่อพระศาสนาที่แท้

ตั้งสำนักเรียนปริยัติธรรม

และสอนวิปัสสนาธุระทันทีที่วัดปากน้ำ

     สำนักเรียนที่เปิดแบ่งเป็น ๒ สาย คือ สายนักธรรมและสายบาลี มอบให้พระที่เป็นศิษย์เป็นอาจารย์ใหญ่ของแต่ละสาย แต่ละสายมีครูประจำ ส่วนหลวงพ่อสอนฝ่ายวิปัสสนาธุระเอง

     พระที่มาสู่สำนักวัดปากน้ำ หลวงพ่อจะชูนิ้ว ๓ นิ้ว เหมือนลูกเสือ แจ้งว่าวัดนี้มีการศึกษา ๓ อย่าง คือ นักธรรม บาลี และวิปัสสนา จะเลือกอย่างไหน เวลาจะรับพระเข้าวัด มีข้อบังคับว่า ต้องเลือกเอาอย่างหนึ่ง จะไม่เลือกเลยไม่ได้ คือ จะมาอยู่เฉยๆ ไม่ได้ อันนี้เป็นกติกาของวัด และต้องปฏิบัติตามระเบียบของวัด หากเลือกนักธรรม หลวงพ่อจะสั่งให้ไปหาอาจารย์ใหญ่ ฝ่ายนักธรรม ประสงค์จะเรียนบาลีก็ให้ไปอยู่ในฝ่ายบาลี ถ้าจะเรียนภาวนาอยู่กับผม (หลวงพ่อ) วันหนึ่งฝึก ๖ ชั่วโมง ขาดเรียนไม่ได้ ถ้าขาดเรียนแล้ว ที่นั่งภาวนาตรงนั้นจะว่างลง ทราบทันทีว่าใครขาดเรียน หลวงพ่อท่านอธิบายอย่างนั้น

    งานบริหารของหลวงพ่อ สายนักธรรมและสายบาลี จะมารายงานต่อหลวงพ่อถึงงานต่างๆ ที่ดำเนินไป ฝ่ายที่อยู่อาศัย ฝ่ายยารักษาโรค และฝ่ายอาหารการเลี้ยง จะมารายงานผลงานให้หลวงพ่อทราบตลอดเวลา

ตั้งโรงครัวของวัด

    โดยเหตุที่วัดปากน้ำ อยู่ใกล้วัดต่างๆ หลายวัด การออกไปรับบิณฑบาตของพระ มักได้อาหารไม่เพียงพอ หลวงพ่อจึงตั้งโรงครัวของวัดขึ้น เพื่อไม่ให้ภิกษุสามเณรต้องกังวลใจเรื่องอาหาร จะได้ไม่เสียเวลาในการศึกษาเล่าเรียน อุบาสิกาชีญาณี ศิริโวหาร เคยเล่าให้ฟังว่า ครั้งกระนั้นเริ่มเลี้ยงมาตั้งแต่มื้อละ ๒ บาท เดี๋ยวนี้มื้อละหลายหมื่นบาท

ตั้งโรงเรียนประชาบาลของวัด

     ไม่ใช่หลวงพ่อรับภาระการศึกษาในวัดปากน้ำอย่างเดียว ไปรับจัดการศึกษาให้แก่ ปวงชนขึ้นอีก คือ ตอนนั้นไม่มีโรงเรียนสำหรับประชาชน หรือมีก็น้อยแห่ง ทำให้เด็กๆ อันเป็นเยาวชน ของชาติไม่เรียบร้อย เพราะขาดการศึกษานั่นเอง มักใช้เวลาว่างไปยิงนกตกปลาในวัด หลวงพ่อก็เลยตั้งโรงเรียนขึ้น ให้ประชาชนนำลูกมาฝากเรียน โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน แต่หลวงพ่อรับผิดชอบในการจัดหาครูและจัดหาค่าจ้างสอน

     ในช่วงเวลานี้ ประชาชนเกิดความนิยมในหลวงพ่อ เห็นว่าหลวงพ่อทำประโยชน์ที่จัดการศึกษาให้แก่ลูกหลานของเขา ข้อมูลนี้ข้าพเจ้าชอบใจมาก บ่งบอกว่าหลวงพ่อเป็น “นักพัฒนาการศึกษา” ตัวยงทีเดียว และเมื่อคราวที่จำพรรษาอยู่วัดพระเชตุพนฯ ก็ยังเคยมีประวัติว่า ใช้กุฏิของท่านตั้งเป็นสำนักเรียนบาลี ใครทำไม่ได้ แต่หลวงพ่อทำได้ ถ้าไม่เรียกอภินิหาร ไม่รู้จะเรียกอะไร

     กล่าวถึงโรงเรียนของวัดที่หลวงพ่อตั้งขึ้นเพื่อบริการประชาชนนั้น ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ทางรัฐบาลได้ประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นเป็นการศึกษาภาคบังคับ คือ กฎหมายฉบับนี้ บังคับให้กุลบุตรกุลธิดาเข้ารับการศึกษาที่เราเรียกครั้งนั้นว่า “การศึกษาประชาบาล” รัฐบาลได้มารับโรงเรียนของหลวงพ่อไปดำเนินการ หมดภาระของหลวงพ่อแต่วันนั้น หลวงพ่อคงมาระดมสรรพกำลังให้แก่สำนักเรียนในวัดปากน้ำเต็มมือขึ้น

     เมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๘ ลุงเปล่ง (จำนามสกุลไม่ได้) ศิษย์พิเศษคนโปรดของหลวงพ่อ เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลห้ามนำข้าวสารออกจากแหล่งค้าขาย ลุงเปล่งบอกว่า มีลุงเปล่งคนเดียวเท่านั้นที่หลวงพ่ออนุญาตพิเศษ มาหาหลวงพ่อแล้วอนุญาตให้เปิดกลอนประตูกุฏิได้ทุกเวลา วันหนึ่งลุงเปล่งมาหาหลวงพ่อ แจ้งต่อหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อจะทำอย่างไรต่อไป หลวงเขาห้ามนำข้าวสารออกจากร้าน พระเณรของหลวงพ่ออดแน่แล้วคราวนี้”

     “เปล่ง เอ็งไปดูเอี้ยมจุ๊นที่หน้าวัด ดูซิว่าในเรือนั้นมีอะไร” ลุงเปล่งไปที่หน้าหน้าวัดตามที่หลวงพ่อสั่ง ในเรือนั้นมีข้าวสารแล้วใช้มะพร้าวปิดทับ จึงไม่เห็นว่าชั้นล่างเป็นข้าวสาร ลุงเปล่งอุทานขึ้นว่า ผ่านการตรวจของเจ้าหน้าที่มาได้อย่างไร ลุงเปล่งกลับมารายงานหลวงพ่อ ตามที่หลวงพ่อใช้ไป พอลุงเปล่งรายงานจบลง โดนหลวงพ่อเล่นงานเอาว่า “เปล่ง พระเณรของเราจะอดได้อย่างไร สัม มา อะ ระ หัง แล้ว อดไม่เป็นก็แล้วกัน” ลุงเปล่งไม่รู้จะทำอย่างไร ถูกหลวงพ่อ เล่นงานเอาแล้ว ได้แต่ก้มกราบ ลุงเปล่งผู้นี้ เล่าเรื่องราวให้ข้าพเจ้าฟังไว้มาก เพราะท่านชอบข้าพเจ้า พบข้าพเจ้าในวัดปากน้ำทีไร มักจะเล่าเรื่องของหลวงพ่อให้ฟัง

     สมัยที่ข้าพเจ้าเข้าวัดปากน้ำ เป็นสมัยที่หลวงพ่อมีสมณศักดิ์เป็นพระภาวนาโกศลเถร และเป็นพระมงคลราชมุนี สมัยนั้นสำนักวัดปากน้ำได้เปรียญเอกมาก เช่น พระมหาเสริม พระมหาสมเช้าดวงจันทร์ พระมหาประเสริฐ สำหรับ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ตอนนั้นยังไม่ได้สมณศักดิ์ ยังเป็นเปรียญ ๘ ประโยค ในนามของพระมหาช่วง สุดประเสริฐ ต่อมาท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระศรีวิสุทธิโมลี” และปัจจุบันเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์”

บัณฑิตผู้คงแก่เรียนเข้าวัด

     ขอกล่าวถึงเหตุการณ์ของวัดปากน้ำ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๘๙ ผู้คนบางส่วนหลบหนีสงคราม วัดปากน้ำมีข่าวลือทั้งดีและไม่ดี กล่าวถึงบัณฑิตผู้คงแก่เรียนท่านหนึ่งคือ พระทิพย์ปริญญา (ธูป กลัมพะสุต เปรียญ ๖ ประโยค เนติบัณฑิต) อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้เที่ยวไปตามวัดต่างๆ และได้เข้ามาในวัดปากน้ำ

     การเข้าวัดของพระทิพย์ปริญญา ก็คือ การพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าข่าวลือในระหว่างนั้น อะไรเป็นจริงและอะไรเป็นเท็จ เป็นการมารู้เห็นด้วยตนเอง

     พระทิพย์ปริญญาได้เห็นกิจวัตรประจำวันของหลวงพ่อ ได้ฟังหลวงพ่อเทศน์ ได้เห็นสำนักเรียนของวัด และได้พบเห็นอะไรมาก บัณฑิตระดับนั้นต้องเอากฎหมายเข้าจับก่อน กฎหมายพระคือ พระวินัย หลวงพ่อมีพระวินัยสมบูรณ์ดีอยู่หรือ ใครๆ ก็ทราบว่า หลวงพ่อสำรวมพระปาฏิโมกข์ขนาดไหน

     ลำดับต่อมาก็ต้องดูกิจการพระศาสนา ศาสนามีหน้าที่สืบต่อคำสอนของพระศาสดา คติของสงฆ์ไทยมี ๒ อย่างคือ คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ พูดให้ง่ายก็ว่า วัดต้องการศึกษา ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม วัดปากน้ำดำเนินการเรื่องเหล่านั้นไปแล้วอย่างไร

     เมื่อหันมาดูปริยัติธรรม แม้จะตั้งสำนักยากในระหว่างสงคราม วัดปากน้ำก็มีทั้ง แผนกนักธรรมและแผนกบาลี

     กลับมาดูปฏิบัติและปฏิเวธบ้าง ปรากฏว่าหลวงพ่อเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนาธุระเอง จะสอนอย่างไรและเอาอะไรมาสอน อยู่ในความสังเกตของพระทิพย์ปริญญา เพราะท่านเป็นเปรียญ ๖ ประโยครุ่นนั้น ท่านต้องมีความรู้อย่างเฉียบขาด แม้ท่านไม่ปฏิบัติ แต่ท่านก็ต้องรู้หลักสูตร เพราะท่านก็ต้องพบในการแปลหนังสือประโยคต่างๆ มาแล้ว รวมความว่า พระทิพย์ฯ ท่านรู้ เพราะท่านเป็นบัณฑิตผู้คงแก่เรียน

     พอได้ยินหลวงพ่อเทศน์ว่า เทฺว เม ภิกฺขเว วิชฺชาภาคิยา ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย วิชามี ๒ อย่าง

     กตเม เทฺว ๒ อย่างอะไรบ้าง

     สมโถ จ วิปสฺสนา จ ๑ สมถะ แปลว่า ความสงบระงับอย่าง ๑ วิปัสสนา ความเห็น แจ้งอย่าง ๑

     สมโถ ภาวิโต กิมตฺถมนุโภติ สมถะเป็นขึ้นแล้ว ต้องการอะไร

     จิตฺตํ ภาวิยติ ต้องการทำจิตให้เป็นขึ้น

     จิตฺตํ ภาวิตํ กิมตฺถมนุโภติ จิตเป็นขึ้นแล้ว ต้องการอะไร

     โย ราโค โส ปหียติ ความกำหนัดยินดีที่อยู่แก่ใจ หมดไป

     วิปสฺสนา ภาวิตา กิมตฺถมนุโภติ วิปัสสนาแปลว่า ความเห็นแจ้ง เป็นขึ้นแล้ว ต้องการอะไร

     ปญฺญา ภาวิยติ ต้องการทำปัญญาให้เป็นขึ้น

     ปญฺญา ภาวิตา กิมตฺถมนุโภติ ปัญญาเป็นขึ้นแล้ว ต้องการอะไร

     ยา อวิชฺชา สา ปหียติ ความไม่รู้จริงมีอยู่แก่ใจ ความไม่รู้จริงอันนั้นหมดไป

     พระทิพย์ปริญญา ฟังหลวงพ่อแสดงความรู้ โดยยกบาลีขึ้นกล่าวก่อนแล้วอธิบายบาลีนั้นย่อ ๆ แสดงถึงกฎเกณฑ์ของเรื่อง ว่าเรื่องเหล่านี้มีตำราเป็นบาลีอยู่แล้ว เหตุใดหลวงพ่อสามารถลำดับได้อย่างกลมกลืน เทศน์ให้นักปราชญ์ฟัง หลวงพ่อก็ต้องเอาจริง การแสดงความสัมพันธ์ของเรื่อง ทำกันง่ายอยู่หรือ ถ้าไม่รู้จริง

     หลวงพ่อลำดับความอย่างเร็ว มาถึงเรื่องหลักสูตรการเรียนวิปัสสนาอันเป็นธุระสำคัญของพระศาสนา หลวงพ่อท่านก็บอกว่า

     สมถะ มีภูมิ ๔๐ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ อรูปฌาน ๔ นี่คือหลักสูตรเรียนของระดับสมถะ หรือเรียกอีกอย่างว่า หลักสูตรโลกีย์

     วิปัสสนา มีภูมิ ๖ (นับหัวข้อวิชา) คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ และปฏิจจสมุปบาทธรรม ๑๒ นี่คือ วิปัสสนา ๗๓ เป็นหลักสูตเรียนวิปัสสนาหรือหลักสูตรโลกุตรธรรม

     สมถะ ๔๐ และวิปัสสนา ๗๓ นี้ เป็นหลักสูตรที่ใช้สืบต่อกันมา หลวงพ่อท่านลำดับอย่างเร็ว

     แต่การเรียนวันนี้ เราเรียนทั้งสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป เบื้องต้นต้องทำใจให้เป็น สมถะก่อน และเมื่อเป็นสมถะแล้ว จึงเข้าหลักสูตรวิปัสสนาต่อไป หากทำใจให้เกิดสมถะไม่ได้ จะเข้าความรู้ระดับวิปัสสนาไม่ได้เลย

     สมถะแปลว่า หยุด แปลว่า นิ่ง หมายความว่า ทำใจนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ต่อเมื่อใจนิ่งแล้ว จะเห็นดวงปฐมมรรค เป็นดวงเพชรใสจรัสแสง เท่าฟองไข่แดงของไก่ ทำได้ดังนี้ แปลว่าเข้าข่ายสมถะแล้ว จากนั้น ลำดับดวงธรรม ๖ ดวง คือ ดวงธรรม ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะ แล้วจะเห็นกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม ทั้งหยาบและละเอียด รวม ๘ กาย ดังนี้ คือ หลักสูตรสมถะ

     พอถึงธรรมกายโคตรภูหยาบ จนถึงธรรมกายพระอรหัตต์ละเอียด รวม ๑๐ กาย ดังนี้ คือหลักสูตวิปัสสนา

     พระทิพย์ปริญญา เห็นหลวงพ่อท่านแม่นสูตร ก็ยังไม่เฉลียวใจอะไร จะรอฟังรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติว่ามีอย่างไร ต่อมาเมื่อทราบวิธีปฏิบัติแล้ว จึงจะไปสรุปกันตอนนั้น จะใช้ได้หรือไม่ได้ ต้องไปดูท้ายเรื่องอีกครั้งหนึ่ง

     ขึ้นชื่อว่าบัณฑิต เขาจะไม่ยุติอะไรง่ายๆ โดยเฉพาะนักกฎหมายด้วยแล้ว เขาต้องดูอะไรหลายอย่าง ต้องใช้เวลาเป็นข้อพิสูจน์ ต้องใช้ข้อมูลมากมาย การจะว่าใครดีใครไม่ดี ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดกันง่ายๆ

     เราผู้ศึกษาประวัติของหลวงพ่อ นึกชมเชยพระทิพย์ปริญญา ที่ท่านมีความอดทนฟังหลวงพ่อเทศน์จนจบ ปกติผู้ใหญ่มักนั่งฟังพระเทศน์ไม่จบ เพราะต้องนั่งสงบเสงี่ยม แถมยังเมื่อย หากเทศน์ไม่ประทับใจ ไม่ว่าใคร ก็ต้องหมดความเพียรที่จะฟังต่อ เรามักจะลุกหนีเดินไปเปลี่ยนอิริยาบถ พูดอย่างเราก็คือ ขี้เกียจฟัง สมัยใหม่เขาก็จะว่า ฟังให้โง่ทำไม เมื่อยจะตายไป กลับบ้านดีกว่า เรามักจะพบเห็นกันแต่อย่างนี้

     แต่พระทิพย์ปริญญาท่านมีวาสนาบารมีทางธรรม ฟังหลวงพ่อเทศน์จนจบและเป็น การบังเอิญที่หลวงพ่อเทศน์ได้ประทับใจนักปราชญ์ ขึ้นชื่อเทศน์แล้วหลวงพ่อพูดน่าฟังจังเลย ขนาดเราเป็นหนุ่มเด็กๆ น่าจะไปเที่ยวดูหนังดูละคร แต่กลับเป็นว่ามานั่งฟังหลวงพ่อเทศน์ โดยสมัครใจ ไม่มีใครบังคับ

     เป็นอันสรุปได้ว่า เรื่องสมถะชัดเจน เรื่องวิปัสสนาชัดเจน สาระแห่งหลักสูตรสมถะ และหลักสูตรวิปัสสนาชัดเจน ไม่มีข้อโต้แย้งของบัณฑิตอีกต่อไป คราวนี้มาถึงภาคปฏิบัติเพื่อสนองความรู้หลักสูตรสมถะและวิปัสสนาว่าหลวงพ่อเข้าถึงได้เพียงไรและแค่ไหน หากท่านศึกษาตำราของหลวงพ่อ คือ หนังสือทางมรรคผล ๑๘ กาย หนังสือคู่มือสมภาร หนังสือวิชชามรรคผลพิสดาร และเทศน์ของหลวงพ่ออีก ๖๒ กัณฑ์ เราจะทราบทันทีว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำคือผู้ทำให้แจ้ง ซึ่งนิพพาน โดยไม่มีข้อสงสัยใดๆ เพราะผลงานเหล่านั้นเป็นหลักฐานให้พิจารณานั่นเอง

     สงสารผู้รู้ดีบางท่านชอบออกความเห็นเรื่องสมถะและวิปัสสนา แล้วก็พูดผิดๆ ถูกๆ สุดท้ายยุติความเห็นไปตามใจชอบ บางอย่างเอาความไม่รู้ไปประเมินผู้รู้ อย่างนี้เป็นที่น่าละอาย เป็นการไม่สมควรที่จะทำเช่นนั้นเลย นักปฏิบัติระดับเราไม่ควรอาจเอื้อมอย่างนั้น

     ตามที่กล่าวนั้น เป็นเรื่องหลักสูตร มีอยู่แล้วในตำรา ใครจำมาก็บอกได้ไม่ยากอะไร แต่การแสดงวิธีปฏิบัติ ขั้นตอนรายละเอียดของการปฏิบัติ และการวัดผลยังไม่แสดงให้ชัดออกมา ก็จะต้องมาตายด้านเหมือนเรื่องปัจจกัมมัฏฐาน ซึ่งได้แก่การพิจารณา เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ มีแต่หลักการว่าพิจารณาสิ่งทั้ง ๕ แต่ไม่แสดงวิธีการ ไม่แสดงปฏิบัติการ และไม่แสดง วิธีวัดผลไว้ ปรากฏว่า ไม่มีใครทำได้เลย ได้แต่สอนสืบต่อกันมาตราบทุกวันนี้

     คำว่าวิธีการ ปฏิบัติการ และสิทธิการ นั้นเป็นคำทางพระ คำสากลใช้ว่า วิธีการ (METHOD) ปฏิบัติการ (PROCEDURE) ส่วนสิทธิการก็คือ วัดผล (EVALUATION)

     วิธีการ หมายถึง วิธีทำว่าทำอย่างไร เพื่อนำสู่การปฏิบัติ ว่าการปฏิบัติจริงนั้นทำอย่างไร วิธีการ-ปฏิบัติการ เป็นของคู่กัน ถ้าไม่ทราบวิธีการย่อมไม่เกิดผลในทางปฏิบัติการ ส่วนการวัดผลนั้น เป็นการตรวจสอบว่าทำเป็นแค่ไหนแล้ว

     พอหลวงพ่อแสดงวิธีปฏิบัติเบื้องต้นให้กำหนดนิมิตขึ้นก่อน เป็นดวงเพชรที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่าแก้วตา หญิงน้อมดวงนิมิตเข้าทางปากช่องจมูกซ้าย และชายเข้าทางปากช่องจมูกขวา บริกรรมคาถา สัม มา อะ ระ หัง จำนวน ๓ ครั้ง แล้วเลื่อนไปตามฐาน ๗ ฐาน สุดท้ายบริกรรมอยู่ที่ฐานที่ ๗ จนกว่าจะเห็นดวงใส ใครเห็นดวงใสเบื้องต้น หลวงพ่อท่านว่า นั่นคือ จิตฺตํ ภาวิยติ แปลว่า จิตเป็นขึ้นแล้ว และดวงใสนี้ คือเบื้องต้นของสมถะ จากนั้น หลวงพ่อท่านก็สอนเดินกายและตบท้ายว่า กายโลกีย์คือขั้นสมถะ ส่วนกายธรรมเป็นขั้นวิปัสสนา แล้วก็ไปเรียนตามหลักสูตร ตามที่กล่าวแล้ว

     เพียงเท่านี้ พระทิพย์ปริญญาเกิดความเข้าใจโดยตลอด เพราะเทศน์ของหลวงพ่อ เกลี้ยงเกลาทั้งหมด ชัดเจนทั้งหมด ไม่มีอะไรต้องข้องใจอีกต่อไปว่าหลวงพ่อรู้จริง สามารถแสดง วิธีทำให้แจ้งชัดได้ปานนี้ เกิดศรัทธาในหลวงพ่อขึ้นมาทันที ที่เราคิดว่าเรามาพบพระดีนั้น ถูกต้องแล้ว คนรู้กับคนรู้ พูดกันรู้เรื่อง เพราะพระทิพย์ปริญญาท่านเป็นเปรียญและเป็นเนติบัณฑิตด้วย ไม่ใช่บัณฑิตธรรมดา ต้องทำความกระจ่างชัดในความรู้ ท่านจึงจะนับถือ

     แต่นั้นมา คุณพระฯ เพียรไปฟังหลวงพ่อเทศน์ เป็นเวลาติดต่อกัน ๒ ปี ทั้งยังบันทึกความรู้หลวงพ่อไว้อีกด้วย เห็นว่าความรู้ของหลวงพ่อมีค่ายิ่งต้องจดโน้ตไว้ เพื่อพี่น้องผู้หวังมรรคผลนิพพานจะได้ศึกษาต่อไป หลวงพ่อปฏิบัติดีประพฤติชอบในพระธรรมวินัยเช่นนี้ เหตุใดจึงมีใครเข้าใจอะไรบางอย่างคลาดเคลื่อน การกระทำเช่นนั้นเป็นบาปเป็นโทษ คุณพระฯ จึงคิดเพื่อระงับการบาปเหล่านั้น จึงพิมพ์ความรู้หลวงพ่อขึ้นเป็นหนังสือเล่มไม่โต ให้ชื่อหนังสือนั้นว่า “ธรรมกาย” หนังสือเล่มนี้พิมพ์ขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๙ พอหนังสือนี้จ่ายไปทั่ว การกล่าววิจารณ์หลวงพ่อก็ยุติมาแต่วันนั้น และแต่นั้นมามีคนมาเรียนวิปัสสนาที่วัดปากน้ำมากขึ้นและมากขึ้น

     พระทิพย์ปริญญาไม่ได้ศึกษาหลวงพ่อย่างธรรมดา แต่เป็นการวิเคราะห์เจาะลึก ทราบแม้กระทั่งเรื่องทำวิชาปราบมาร กุฏิที่ใช้นั่งทำภาวนาวิชาปราบมาร หลวงพ่อท่านเรียกว่า “โรงงาน” ไม่เรียกกุฏิ คุณพระฯ ท่านเลยหัวเราะ มิน่าเล่าคนภายนอกเขาว่า หลวงพ่อมีโรงงาน ทำอะไร และกุฏิพระคณะต่างๆ หลวงพ่อท่านก็ตั้งว่า คณะดุสิต คณะดาวดึงส์ เป็นต้น

     พระทิพย์ปริญญาเคารพหลวงพ่อ และเป็นอุปการะคอยระวัง เพื่อให้หลวงพ่อได้รับ ความสงบ จะได้ใช้จิตใจทำวิชาปราบมารให้ลุล่วงเพราะงานปราบมารเป็นงานใหญ่ เป็นงาน ทำ ได้ยากคุณพระฯ ท่านเข้าใจเป็นอย่างดี แต่คนภายนอกไม่ทราบ ทราบแต่ศิษย์ธรรมกายระดับแก่กล้าเท่านั้น ขอยุติเรื่องบัณฑิตผู้คงแก่เรียนเข้าวัดไว้เพียงนี้

 

 

บางส่วนจากหนังสือ อภินิหารหลวงพ่อวัดปากน้ำ หน้า 29 : อ่านเพิ่มเติม