พระศาสดาสอนอย่างไร

      มวลมนุษย์จะได้รับความสุข จะต้องประพฤติตนตามคำสอนของพระศาสดา  คำสอนของพระศาสดามี ๓ ข้อ คือ

(๑.) สพฺพปาปสฺส อกรณํ  ไม่ทำชั่ว(บาป)ด้วยประการทั้่งปวง

(๒.) กุสลสฺสูปสมฺปทา    ทำดี(กุศล)ทุกประการให้บริบูรณ์

(๓.) สจิตฺตปริโยทปนํ     ทำใจให้สว่างใส

คำสอนข้อที่ ๑ ห้ามทำชั่ว (บาป) ด้วยประการทั้งปวง

      ได้แก่ ห้ามทำชั่วด้วยกาย วาจา และใจ เพราะกรรมชั่วคือบาปจะให้ทุกข์ภายหลัง (ทุกโข ปาปสฺส อุจฺจโย) หากกระทำชั่วจะได้รับผลชั่วเสมอ (บาปการี จ ปาปกํ) นั่นคือ ให้เว้นอกุศลกรรมบถ ๑๐

อุศลกรรมบถ ๑๐ คือ เว้นกายทุจริต ๓ , เว้นวจีทุจริต ๔ , เว้นมโนทุจริต ๓

เว้นกายทุจริต ๓ คือ

(๑.) ปาณาติบาต  เว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง  คือ  เว้นจากการฆ่าสัตว์  เพราะชีวิตเราเราก็รัก  ชีวิตเขาเขาก็รัก  การทำให้เขาถึงแก่ความตายหรือการทรมานสัตว์  ถือว่าเป็นบาป

(๒.) อทินนาทาน  เว้นจากการลักขโมย  การเอาสิ่งของคนอื่นมาเป็นของตนโดยเจ้าของไม่อนุญาต  ถือว่าเป็นบาป

(๓.) กาเมสุ  มิจฉาจาร  เว้นจากการปะเวณีลูกเมียของคนอื่น  ภรรยาของคนอื่น  เขามีสามีอยู่แล้ว  สามีเขาเป็นเจ้าของ  เราไปเกี่ยวข้องทางชู้สาวไม่ได้  ถือว่าเป็นบาป

เว้นวจีทุจริต ๔  คือ

(๑.) มุสาวาท  เว้นจากการพูดเท็จ

(๒.) ปิสุณาวาจา  เว้นจากการพูดส่อเสียด

(๓.) ผรุสวาจา     เว้นจากการพูดคำหยาบ

(๔.) สัมผัปปาลปะ  เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

เว้นมโนทุจริต ๓ คือ

(๑.) อภิชฌา  เว้นจากความโลภอยากได้สิ่งของของคนอื่น

(๒.) พยาบาท  เว้นจากการปองร้าย  ไม่คิดแก้แค้น

(๓.) มิจฉาทิฏฐิ เว้นจากความประพฤติที่ผิดทำนองคลองธรรม  ได้แก่  การเว้นความประพฤติที่ผิดศีลธรรมทั้งปวง

คำสอนข้อที่ ๒  ให้ทำดี (การกุศล) ทุกประการโดยบริบูรณ์

      ได้แก่  การให้ทำความดี (การกุศล)  ด้วยกาย  วาจาและใจ  เพราะความดีหรือบุญกุศลนำความสุขมาให้ (สุโข ปุญฺญสฺส  อุจฺจโย) ทำดีย่อมได้ดีเสมอ (กลฺยาณการี กลฺยาณํ)  นั่นคือ  ให้ประพฤติกุศลกรรมบท ๑๐

      กุศลกรรมบถ ๑๐  คือ  ประพฤติกายสุจริต ๓,  ประพฤติวจีสุจริต ๔,  ประพฤติมโนสุจริต ๓

      ประพฤติกายสุจริต ๓  คือ

(๑.) ปาณาติปาตา  เวรมณี   เว้นจากการฆ่าสัตว์

(๒.) อทินนาทานา  เวรมณี    เว้นจากการลักขโมย

(๓.) กาเมสุ  มิจฉาจารา เวรมณี  เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

ประพฤติวจีสุจริต ๔  คือ

(๑.) มุสาวาทา  เวรมณี   เว้นจากการพูดปด

(๒.) ปิสุณาย  วาจาย  เวรมณี  เว้นจากการพูดส่อเสียด

(๓.) ผรุสาย  วาจาย  เวรมณี  เว้นจากการพูดส่อเสียด

(๔.) ผรุสาย  วาจาย  เวรมณี  เว้นจากการพูดคำหยาบ

(๕.) สัมผัปปาลป  เวรมณี  เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

ประพฤติมโนสุจริต ๓  คือ

(๑.) อนภิชฌา  ไม่โลภอยากได้ของเขา

(๒.) อพยาบาท ไม่ปองร้ายเขา

(๓.) สัมมาทิฏฐิ  ประพฤติถูกตามคลองธรรม  คือประพฤติถูกศีลธรรม

สรุปคำสอนข้อ ๑.  ข้อ ๒.

คำสอนของพระศาสดาตามที่กล่าวมานั้น  สรุปได้ว่า  คำสอนข้อที่ ๑ ที่ว่าไม่ทำความชั่ว (บาป)  ด้วยประการทั้งปวงนั้น  หมายความว่า  ให้เว้นอกุศลกรรมบถ  ๑๐  และคำสอนข้อที่  ๒  ที่ว่าให้ทำดี  (กุศล) ทุกประการให้บริบูรณ์นั้น  หมายความว่า  ให้ประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐

อกุศลกรรมบถ  ๑๐  เป็นทางเสื่อม  ให้งดเว้น

กุศลกรรมบถ  ๑๐  เป็นทางเจริญ  ให้กระทำยิ่งขึ้นไป

พระศาสดาทรงตรัสเป็นภาษาบาลี  ควรท่องให้จำได้  ดังนี้

(๑.)   กมฺมํ  สตฺเต  วิภชติ  ยทิทํ  หีนปฺปณีตตาย

กรรมย่อมจำแนกสัตว์  คือให้ทรามหรือประณีต

(๒.)    กมฺมุนา  วตฺตตี  โลโก

สัตว์ย่อมเป็นไปตามกรรม

(๓.)    ยาทิสํ  วปเต  พีชํ  ตาทิสํ  ลภเต  ผลํ

บุคคลหว่านพืชเช่นใด  ย่อมได้ผลเช่นนั้น

(๔.)    กลฺยาณการี  กลฺยาณํ  ปาปการี  จ  ปาปกํ

ผู้ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี  ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้ผลชั่ว

(๕.)    ผู้ใด  ไม่ฆ่าเอง  ไม่ให้ผู้อื่นฆ่า  ไม่ชนะเอง  ไม่ให้ผู้อื่นชนะ

ผู้นั้นชื่อว่ามีเมตตาต่อสัตว์ทั้งปวง

คำสอนข้อ  ๓.  ให้ทำใจใสสว่าง

เป็นคำสอนที่สำคัญที่สุด  มุ่งการพัฒนาใจเป็นสำคัญ  เพราะใจเป็นนาย  กายเป็นบ่าว  ใจสั่งอย่างไร  กายก็ทำอย่างนั้น

ถ้าใจสว่างใส   ก็สั่งทำแต่สิ่งที่เป็นกุศล

หากใจขุ่นมัว   ก็สั่งแต่สิ่งที่เป็นบาป

เหตุนี้เอง  พระศาสดาจึงสอนให้พัฒนาใจ  เพื่อเราจะได้ประพฤติแต่สิ่งที่ถูกทำนองคลองธรรม  อันจะส่งผลดีให้แก่ตัวเองและแก่โลก

การพัฒนาใจนี้เอง  หากฝึกให้ยิ่งขึ้นแล้ว  จะเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่  คือให้พบธรรมวิเศษ

เรื่องของใจ  เป็นเรื่องของความละเอียดอ่อน  โปรดศึกษาเพื่อทราบวิธีการพัฒนา  ดังต่อไปนี้

 

บางส่วนจากหนังสือ ทางรอดของมนุษย์ฯ หน้า 11  :  อ่านทั้งหมด | หน้าแรก