ผู้ใดเห็นดวงธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต

วิธีทำให้เห็น ศีล สมาธิ ปัญญา ตามหลักมรรค ๘

     ลำดับแรก

     ให้ท่านนึกรวมใจของท่านเป็นจุดเดียว นึกให้เป็นจุดใสไม่ได้ ก็ให้นึกเป็นดวงแก้วขนาดโตเท่าแก้วตา นึกให้ดวงนี้ใสและบริสุทธิ์ ต้องนึกให้ใส และให้สว่างเข้าไว้

     เมื่อทำได้ถึงขั้นนี้ แปลว่า ใจของท่านพร้อม ที่จะรับการพัฒนาให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ มรรค ๘ ตามวิธีการดังต่อไปนี้

     ๑. ปากช่องจมูก หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา

     ให้ท่าน “หลับตา” น้อมดวงใส เข้าไปไว้ที่ปากช่องจมูก หญิงจมูกข้างซ้าย ชายจมูกข้างขวา นึกให้ดวงใสสว่างขึ้น ถ้าไม่ใส บริกรรมในใจว่า “สัม มา อะ ระ หัง” ๓ ครั้ง โปรดดูภาพ

     ๒. เพลาตา หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา

     แล้วเลื่อนดวงใสมาอยู่ที่เพลาตา ตรงรูน้ำตาออก หญิงเพลาตาข้างซ้าย ชายเพลาตาข้างขวา แล้วนึกให้ ดวงใส ใสยิ่งขึ้น ถ้าไม่ใส ให้บริกรรมในใจว่า “สัม มา อะ ระ หัง” ๓ ครั้ง

     ๓.จอมประสาท หรือเรียกว่า กลางกั๊กศีรษะ

     แล้วเลื่อนดวงใสเข้าไปในกะโหลกศีรษะ ขณะที่เลื่อนดวงใส เข้าไปไว้ในจอมประสาทนั้น ให้เหลือกตา ตัวเองตามดวงใสไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ใจเห็นข้างใน เมื่อดวงใสนิ่งอยู่ในกะโหลกศีรษะแล้ว นึกให้ดวงใสสว่างขึ้น ถ้าไม่ใสให้บริกรรมในใจว่า “สัม มา อะ ระ หัง” ๓ ครั้ง

     ๔. ช่องเพดาน หรือเรียกว่า เพดานปาก

     แล้วเลื่อนดวงใสจากจอมประสาทมาไว้ที่ช่องเพดานตรงจุดหมายที่สำลักอาหาร นึกให้ดวงใสสว่าง ถ้าไม่สว่าง ให้บริกรรมในใจว่า “สัม มา อะ ระ หัง” ๓ ครั้ง

     ๕. ปากช่องลำคอ

     แล้วเลื่อนดวงใสมาที่ ปากช่องลำคอ เหนือลูกกระเดือกนิดหนึ่งอยู่ในลำคอ นึกให้ดวงใสสว่าง ถ้าไม่สว่าง ให้บริกรรมในใจว่า “สัม มา อะ ระ หัง” ๓ ครั้ง

     ๖. ฐานของศูนย์กลางกาย

     แล้วเลื่อนดวงใสมาไว้ที่ศูนยก์ ลางกายราวสะดือ จุดวางดวงใสอยูที่ไหน ให้ทา่ นสมมุติว่า มีเข็มอันหนึ่งร้อยด้าย แทงจากสะดือขึงตึงทะลุหลัง อีกเส้นหนึ่งแทงจากสีข้างขวาไปซ้าย ท่านเห็นเป็นมโนภาพว่า ในท้องของท่านมีเส้นด้าย ๒ เส้นตัดกันเป็นรูปเครื่องหมายกากบาท จุดที่เส้นด้ายตัดกันนั้น เรียกว่า ฐานของศูนย์กลางกายให้เอาดวงใสวางไว้ตรงจุดหมายที่เส้นด้ายตัดกันนั้น นึกให้ดวงใสสว่างขึ้น ถ้าไม่สว่างให้บริกรรมในใจว่า “สัม มา อะ ระ หัง” ๓ ครั้ง

     ๗. ยกดวงใสให้สูงขึ้นมา จากจุดที่เส้นด้ายตัดกัน ประมาณ ๒ นิ้วมือตัวเอง (ศูนย์กลางกาย)

     แล้วนึกยกดวงใส ให้อยู่สูงขึ้นมาจากจุดหมายที่เส้นด้ายตัดกันประมาณ ๒ นิ้วมือตัวเอง นึกให้ดวงใสใสและสว่างยิ่งขึ้น ถ้าไม่สว่าง ให้บริกรรมในใจว่า “สัม มา อะ ระ หัง” ๓ ครั้ง จากนี้ไป ให้จรดใจกลางดวงใสดวงนี้ที่อยู่ในท้องเรา และบริกรรมในใจว่า “สัม มา อะ ระ หัง” เรื่อยไป ร้อยครั้ง พันครั้ง ขณะบริกรรม “สัม มา อะ ระ หัง” นั้นให้จรดใจลงที่กลางดวงใส ไม่นึกไปในเรื่องอื่นใด ไม่นำความรู้ใดๆ มาคิด หน้าที่การงานและภารกิจใดๆ ไม่นำมาคิด ไม่นำมานึก ในขณะนี้เป็นอันขาด

     ลำดับ ๒

     เมื่อบริกรรมในใจ “สัม มา อะ ระ หัง” ยิ่งขึ้น ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

     ทำในทุกอิริยาบถ ทั้ง ยืน เดิน นั่ง นอน

     ทำอย่างที่เรียกว่า “เอาใจจดจ่อ”

     เป็นการสำรวมใจ จรดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายอย่างยิ่งยวด ก็เกิดภาวะของ “ใจสบาย” “ใจใส” “ใจหยุด” “ใจนิ่ง” ดวงใสสมมุติที่กำหนดในตอนแรก กำหนดขึ้นเพื่อให้ใจเกาะและยึด มิให้คิดฟุ้งซ่าน ไม่ให้ส่าย ดวงใส สมมุตินั้น จะหายไปเป็นอัตโนมัติ แล้วท่านจะเห็น “ดวงแก้วใสสว่างโชติ” ในท้องของท่าน ดวงแก้วใสนี้ คือ “ดวงปฐมมรรค” หรือเรียกอีกอย่างว่า “ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน”

     ลำดับ ๓

     เป็นลำดับเห็น ศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนวมรรค ๘

         - เมื่อเห็นดวงแก้วใสสว่างโชติ คือ ดวงปฐมมรรค ดวงที่ ๑ แล้ว

         - ดวงปฐมมรรคนี้ จะเป็นพื้นฐานให้ท่านได้เห็นดวงศีลอย่างง่ายดาย

     ความยากอยู่ที่ว่า ทำปฐมมรรคให้เกิดขึ้นได้หรือไม่เท่านั้น

     ถ้าทำปฐมมรรคให้เกิดขึ้นไม่ได้ เราก็หมดโอกาสที่จะเข้าถึง ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อเราเข้าถึงศีล สมาธิปัญญาไม่ได้ แสดงว่าเราหมดหนทางที่จะได้ “มรรคผล” และเมื่อเราไม่ได้มรรคผล ชาตินี้เกิดมาเพื่อตายเปล่าไม่ได้ประโยชน์อะไร มีแต่จะสร้างเวรสร้างกรรมเพิ่มขึ้น หรือไปเรียนกัมมัฏฐานของสายมารเข้า (คือกัมมัฏฐานที่กำหนดใจไม่ตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกาย) ก็จะถอยหลังเข้าคลองกันใหญ่

     - เมื่อเห็นดวงปฐมมรรค (ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน) แล้ว ให้ท่านส่งใจจี้กลางดวงปฐมมรรคไว้หยุดและนิ่ง กลางดวงปฐมมรรคนั้น ไม่ถอยหลังกลับ แล้วส่งใจจี้ กลางดวงปฐมมรรคให้ยิ่งขึ้น

     - กลางดวงปฐมมรรคนั้นเอง ท่านจะเห็น “จุดใสโตเท่าปลายเข็ม” จุดใสเล็กนี้ คือ “มัชฌิมาปฏิปทา”หรือเรียก “เอกายนมรรค” หรือเรียกว่า “กลาง” เมื่อเห็นจุดใสโตเท่าปลายเข็มแล้ว ให้เอาใจจี้ตรงจุดใสเล็กนั้นและเพิ่มความหยุด ความนิ่งของใจให้ทับทวีขึ้น ต่อเมื่อ “ใจหยุดและนิ่ง ถูกส่วน” จุดใสเล็กจะหายไป เกิดความ “ว่าง” ซึ่งความว่างนั้น มีลักษณะเวิ้งว้าง ประดุจท้องฟ้า เรียกว่า “สุญญตา”

     - ในว่างนั้น หรือในสุญญตานั้น ท่านจะเห็นดวงใสอีกดวงหนึ่ง ดวงใสที่ ๒ นี่คือ “ดวงศีล”

     - เมื่อเห็นดวงศีลแล้ว ปฏิบัติตามแนวที่กล่าวแล้ว ส่งในนิ่งไปกลางดวงศีล จะเห็นดวงใสที่ ๓ คือ “ดวงสมาธิ” ส่งใจนิ่งลงไปที่ดวงสมาธิ ก็จะเห็นดวงใสที่ ๔คือ “ดวงปัญญา”

     และเมื่อส่งใจนิ่งไปที่กลางดวงปัญญาแล้ว จะเห็นดวงใสอีกดวงหนึ่งเป็นดวงที่ ๕ เรียกว่า “ดวงวิมุตติ” ส่งใจนิ่งลงไปที่กลางดวงวิมุตติ จะเห็นดวงใสอีกดวงหนึ่ง เป็นดวงที่ ๖ เรียกว่า “ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ”

     บัดนี้ ท่านได้เห็น ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ตามหลักของมรรค ๘ แล้ว 

     มรรค ๘ ไม่ใช่จะเห็นแค่ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา เท่านั้น ผลพลอยได้ก็คือ ยังได้เห็นดวงปฐมมรรคดวงวิมุตติ และดวงวิมุตติญาณทัสสนะอีกด้วย

     นั่นคือ ท่านได้เห็นดวงปฐมมรรค (ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ รวมเป็น ๖ ดวงธรรม ดวงธรรมเหล่านี้ ท่านเห็นในท้องของท่าน

     เมื่อเห็นดวงธรรม ๖ ดวงในท้องของท่านแล้ว ต่อไปจะทำอย่างไรต่อไปอีก

     ท่านส่งใจนิ่ง ลงไปกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ประคองใจให้หยุดและให้นิ่ง ในว่างกลางดวงธรรมท่านจะเห็นอะไรอีก

     ลำดับ ๔

     เป็นลำดับเห็น กายมนุษย์ละเอียด (กายฝัน)

     - เมื่อท่านส่งใจ นิ่งและหยุด ลงไปกลางดวงธรรมที่ ๖ คือ กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ณ กลางดวงธรรม ท่านจะเห็น “จุดใสเล็กเท่าปลายเข็ม” เอาใจจี้ ตรงจุดใสเล็กนั้น

     - จุดใสเล็กนั้น จะว่างเป็น “สุญญตา” เกิดความเวิ้งว้างใหญ่ไพศาล ในว่างนั้นท่านจะเห็น “ตัวตนของท่าน” มีรูปร่างหน้าตาเหมือนตัวท่าน คือ เหมือนกับกายมนุษย์หยาบ ได้แก่กายที่กำลังอ่านอยู่ขณะนี้ กายที่ท่านเห็นกลางของความว่างใสนั้น คือ “กายมนุษย์ละเอียด” หรือเรียกว่า “กายฝัน” ของท่าน

     - กายฝันหรือกายมนุษย์ละเอียด เขาจะทำหน้าที่ฝันเมื่อกายมนุษย์นอนหลับ เมื่อกายมนุษย์ตื่นจากหลับไม่ทราบว่ากายฝันนั้นหายไปไหน ทั้งที่กายนี้เป็นตัวของเรา ทำหน้าที่ไปฝันมาฝันอยู่ทุกคืนวัน เมื่อกายมนุษย์นอนหลับ คืนใดฝันร้ายกายมนุษย์จะทุกข์ร้อน เหมือนหนึ่งกายมนุษย์ได้รับเคราะห์กรรมไปตามที่ฝันนั้นด้วย

     -แต่เราก็ไม่คิดค้นคว้าหาความรู้ถึงกายฝันว่า เหตุใดเราจึงต้องมีกาย ๒ กาย คือ กายมนุษย์หยาบ คือ กายที่กำลังอ่านหนังสืออยู่ขณะนี้และมีการทำหน้าที่ฝัน เมื่อกายมนุษย์นอนหลับ กายฝันอยู่ที่ไหน ทำไมจึงจับต้องไม่ได้จับต้องได้แต่กายมนุษย์หยาบ และเหตุใดกายฝันกับกายมนุษย์จึงมีหน้าตา ลักษณะ ท่าทางเหมือนกัน  ถ้าฝันร้ายกายมนุษย์จะไม่ทุกข์ร้อนได้ไหม เหตุใดจึงยึดมั่นว่ากายฝันเป็นตัวตนของท่านด้วยเล่า

     - ทุกคนยอมรับว่า เคยฝัน เคยเห็นกายฝันกันทุกคน และยอมรับความจริงว่า เรามี ๒ ตัวตน คือ กายมนุษย์กับกายฝัน ถ้าใครมาล่วงเกินกายมนุษย์ เราจะต้องป้องกัน และถ้าใครมาล่วงเกินกายฝัน ในขณะที่เรานอนหลับไปนั้น กายฝันของเราก็ต้องต่อสู้จนเต็มกำลังเช่นกัน สู้ได้ก็สู้ ถึงสู้ไม่ไหว เราก็ต้องสู้

     - แปลว่า เราสู้ทั้ง ๒ กาย คือ กายมนุษย์หยาบต่อสู้การดำเนินชีวิตในโลกมนุษย์ ใครมารังแกกายมนุษย์ก็ต่อสู้ไปตามเรื่องของกายมนุษย์ ครั้นกายมนุษย์นอนหลับ กายฝันหรือกายมนุษย์ละเอียดก็ต่อสู้ไปในโลกของความฝันของเขา

     ความไพศาลของโลกมนุษย์ กายมนุษย์หยาบทราบเป็นอย่างดี

     แต่ความมหึมาของโลกความฝัน กายฝันของท่านไปเรียนรู้อะไรมาบ้าง และจะสู้กันอย่างไรต่อไป และจะไปสู้กับใคร ที่ไหน เมื่อไร

     กายมนุษย์ต่อสู้ กายฝันเขาก็สู้ด้วย

     กายมนุษย์ชนะ กายฝันชนะด้วย

     กายมนุษย์ “เห็นธรรม” กายฝันเห็นด้วย

     แต่ถ้ากายมนุษย์ทำบาป กายฝันตกนรก

     กายมนุษย์ตาย กายฝันรับภาระแทนกายมนุษย์ ทุกข้อหา

     กายมนุษย์ที่ไม่มีธรรมเป็นเกาะเป็นหลัก

     กายฝันรับเคราะห์กรรมทุกสถาน

     นี่คือ ความเกี่ยวข้องกันระหว่าง กายมนุษย์ (หยาบ) กับกายฝัน (กายมนุษย์ละเอียด) เมื่อมีกายมนุษย์ (หยาบ) กายละเอียดของกายมนุษย์คือ กายฝัน ทุกท่านยอมรับความจริงข้อนี้

     กายละเอียดต่อจากกายฝัน มีกายอะไรอีกหรือไม่ จะทราบได้อย่างไร และมีอะไรเป็นข้อพิสูจน์

     เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นหน้าที่ของท่านที่ต้องค้นคว้าหาต่อไป

     ถ้าท่านค้นหาไม่ได้ แปลว่า เราไม่มีโอกาสได้มรรคผล

     เราแสวงหามรรคผลกันทุกคน แต่ไม่ทราบว่าจะไปแสวงหาที่ไหน

     เพราะไม่รู้ทางเดิน ไม่ทราบว่า จะไปตรงไหน และอย่างไร

     เราเป็นคนเกิดยุคนี้ก็จริง แต่ความรู้ของเกจิอาจารย์ก่อนๆ พอมีตำรับตำราค้นคว้า เราพอจะทราบว่า อาจารย์ใดมีความรู้อะไร มีเนื้อหาของวิชาเท่าไร อะไรบ้าง

     แต่ยังไม่มีใครบอกแก่เราว่า กายฝันของเราอยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะไปพบได้ ผู้ที่บอกเราได้อย่างชัดเจน มีกฎเกณฑ์การปฏิบัติและมีการพิสูจน์ได้คือ พระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ เขตภาษีเจริญกรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกว่า “หลวงพ่อสด” เท่านั้น

สรุปการเดินทางของกายมนุษย์

     กายมนุษย์แสวงหามรรคผล ด้วยการตั้งใจไว้ที่ศูนย์กลางกาย ทำใจหยุด ทำใจนิ่ง ตามหลักของ สจิตฺตปริโยทปนํ เพื่อให้ถึงศีล สมาธิ ปัญญา ตามนัยแห่ง อริยมรรค ๘

     - ใจของกายมนุษย์ หยุดถูกส่วน เห็นดวงปฐมมรรค ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ รวม ๖ ดวงธรรม ดวงธรรมเหล่านี้เป็นดวงแก้วใส บริสุทธิ์ สว่างโชติ

     - ณ ที่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนั้น พอจุดใสเล็กเท่าปลายเข็มว่างเป็นสุญญตา ท่านจะเห็นกายมาเกิด กายไปเกิด ก็คือ “กายฝัน” หรือเรียก “กายมนุษย์ละเอียด”

      - เอากายฝันของท่าน ปฏิบัติอย่างที่กายมนุษย์ทำมานี้ คือ เห็นดวงธรรมอีก ๖ ดวง หมายความว่ากายฝันเขาก็แสวงหามรรคผลต่อไป ถามว่าจะไปพบอะไรอีก สิ่งนั้นคือ หลักชัยของเรา

      ลำดับ ๕

     เป็นขั้นเห็นกายละเอียดต่อจากกายฝัน และบรรลุธรรมกาย

     - แต่เดิมตกลงกันว่า เราเลือกมรรคทางนิพพาน มรรคทางนิพพาน คือ เรื่องของอริยมรรคมีองค์ ๘ เรียกย่อว่า มรรค ๘

     - มรรค ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และความหมายของ ศีล สมาธิ ปัญญา เราเข้าใจแล้ว

     - การทำใจให้เห็น ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น เราทำได้แล้ว คือ ตั้งใจไว้ที่ศูนย์กลางกาย บริกรรมในใจว่า “สัม มา อะ ระ หัง” ในที่สุด ท่านเห็นดวงธรรมในท้องของท่าน รวม ๖ ดวงคือ

     ๑. ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ดวงปฐมมรรค)

     ๒. ดวงศีล

     ๓. ดวงสมาธิ

     ๔. ดวงปัญญา

     ๕. ดวงวิมุตติ

     ๖. ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ

     - กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ท่านเห็นตัวของท่าน เรียกว่า “กายมนุษย์ละเอียด หรือกายฝัน” 

     การปฏิบัติลำดับต่อไป

     บังคับให้กายฝันทำดวงธรรมอีก ๖ ดวงธรรม ตามแนวที่กล่าวแล้ว

     กลางดวงธรรมที่ ๖ ท่านจะเห็น “กายทิพย์หยาบ” ของท่าน รูปร่างเหมือนกายมนุษย์ทุกประการแต่การแต่งกาย คือ เครื่องทรงไม่เหมือนกัน กายทิพย์หยาบมีชฎา เครื่องแต่งตัวเหมือนตัวละคร

     ปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยไป ท่านจะเห็นกายต่างๆ ที่ละเอียดยิ่งขึ้น

     ในที่สุดบรรลุ “ธรรมกาย” เป็นพระพุทธรูปขาวใส เกตุดอกบัวตูมสว่างโชติ ขาวและใสประดุจเพชรนั่งขัดสมาธิอยู่ในท้องของท่าน

     บัดนี้ ความปรารถนาของท่านสำเร็จแล้ว คือ ท่านได้เห็น “ธรรมกาย” มรรคผลของเราอยู่ที่ธรรมกายถ้าไม่เป็นธรรมกายแปลว่า ยังไม่ได้มรรคผล แต่การได้มรรคผลนั้น มีเบื้องต้น ระดับกลาง และขั้นปรมัตถ์เราจะได้ระดับไหน จะต้องเรียนกันต่อไป

     ขอสรุปเสียก่อนว่า สัจธรรมอันนี้เป็นของจริง การบำเพ็ญกิจทางใจ เพื่อมรรคผลนิพพาน ตามหลักของ มรรค ๘ ท่านจะเห็นกายตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนี้

     ๑. กายมนุษย์ (กายมนุษย์หยาบ)

     ๒. กายฝัน (กายมนุษย์ละเอียด)

     ๓. กายทิพย์หยาบ

     ๔. กายทิพย์ละเอียด

     ๕. กายรูปพรหมหยาบ

     ๖. กายรูปพรหมละเอียด

     ๗. กายอรูปพรหมหยาบ

     ๘. กายอรูปพรหมละเอียด

     ๙. ธรรมกายโคตรภูหยาบ (กายธรรม)

    ๑๐. ธรรมกายโคตรภูละเอียด (กายธรรมละเอียด)

    ๑๑. ธรรมกายพระโสดาหยาบ (พระโสดามรรค, พระโสดาปฏิมรรค)

    ๑๒. ธรรมกายพระโสดาละเอียด (พระโสดาผล, พระโสดาปฏิผล)

    ๑๓. ธรรมกายพระสกิทาคามีหยาบ(พระสกิทาคามีมรรค, พระสกิทาคามีปฏิมรรค)

    ๑๔. ธรรมกายพระสกิทาคามีละเอียด (พระสกิทาคามีผล, พระสกิทาคามีปฏิผล)

    ๑๕. ธรรมกายพระอนาคามีหยาบ (พระอนาคามีมรรค, พระอนาคามีปฏิมรรค)

    ๑๖. ธรรมกายพระอนาคามีละเอียด (พระอนาคามีผล, พระอนาคามีปฏิผล)

    ๑๗. ธรรมกายพระอรหัตต์หยาบ (พระอรหัตตมรรค, พระอรหัตตปฏิมรรค)

    ๑๘. ธรรมกายพระอรหัตต์ละเอียด (พระอรหัตตผล, พระอรหัตตปฏิผล)

กายหยาบกับกายละเอียด เกี่ยวข้องเกื้อกูลกัน

    - กายมนุษย์กับกายฝัน มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร ได้กล่าวแล้ว

     - เรายอมรับว่าเรามีกายฝัน เพราะทุกคนเคยฝัน และเมื่อเราปฏิบัติกิจทางใจ โดยตั้งใจไว้ที่ศูนย์กลางกาย แล้วทำใจให้เป็นไปตามหลักของมรรค ๘ เราจึงได้พบกายฝัน และได้พบกายละเอียดต่อไปอีก

     - กายของเราทั้งหยาบและละเอียด มีความเกี่ยวข้องกัน เกื้อกูลกัน เพราะต่างก็มีหน้าที่จะต้องทำจะทราบเรื่องนี้ได้ก็ต้องตรวจสอบด้วยรู้และญาณของ “ธรรมกาย” เท่านั้น

     ๑. เมื่อมีกายมนุษย์ กายละเอียดของกายมนุษย์ คือ กายฝัน

     ๒. เมื่อมีกายฝัน กายละเอียดของกายฝัน คือ กายทิพย์หยาบ

     ๓. พอถึงกายทิพย์หยาบ กายละเอียดของกายทิพย์หยาบ คือ กายทิพย์ละเอียด

     ๔. พอถึงกายทิพย์ละเอียด กายละเอียดของกายทิพย์ละเอียด คือ กายรูปพรหมหยาบ

     ๕. พอถึงกายรูปพรหมหยาบ กายละเอียดของกายรูปพรหมหยาบ คือ กายรูปพรหมละเอียด

     ๖. พอถึงกายรูปพรหมละเอียด กายละเอียดของกายรูปพรหมละเอียด คือ กายอรูปพรหมหยาบ

     ๗. พอถึงกายอรูปพรหมหยาบ กายละเอียดของกายอรูปพรหมหยาบ คือ กายอรูปพรหมละเอียด

     ๘. พอถึงกายอรูปพรหมละเอียด กายละเอียดของกายอรูปพรหมละเอียด คือ ธรรมกาย

     ๙. พอถึงธรรมกายก็มีกายละเอียดของธรรมกายต่อไปอีกไม่สิ้นสุด

     เรื่องของเรา ยากเข็ญอย่างนี้แหละท่าน

     ความเชื่อของเราอย่างหนึ่งที่ว่า ขอให้ตายไปเถิด จะได้หมดเวรหมดกรรมกันเสียที จึงเป็นความรู้ที่เชื่อกันมาอย่างผิดๆ แท้ที่จริงกายมนุษย์อยู่ในโลก ว่าจะทุกข์ ก็รับว่าทุกข์ แต่พอกายมนุษย์ตาย กายฝันก็เป็นผู้รับความรู้สึกแทนกายมนุษย์ เสมือนหนึ่งที่กายมนุษย์รู้สึกเหมือนอยู่ในโลก คราวนี้ก็จะได้รู้กันว่า ทุกข์ที่ได้รับเมื่ออยู่ในโลกนั้นไม่เท่าไรเลย เคราะห์กรรมและทุกขเวทนาที่ได้รับเมื่อตายไปแล้วนั้นแสนสาหัสเหลือจะกล่าวคนที่คิดฆ่าตัวตายจึงเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง

     ด้วยรู้และญาณของ “ธรรมกาย” ทำให้เราหูตาสว่างขึ้น ว่าความรู้บางอย่างที่เราเชื่อกันมาแต่ปางบรรพ์นั้น เป็นความรู้ที่ผิดๆ มากมายเหลือเกิน โดยเฉพาะความรู้ที่ว่า เรามีตัวตนเพียงหนึ่งนั้น ท่านก็เห็นแล้วว่า อย่างน้อยเรามีกายถึง ๑๘ กาย และความรู้ที่เคยโต้กันมาว่า ตายแล้วดับหรือตายแล้วเกิด นรก สวรรค์ นิพพาน มีอยู่อย่างไร หรือไม่ เมื่อท่านฝึกเป็น “ธรรมกาย” แล้ว ปัญหาเหล่านี้จะแจ้งแก่ท่านเอง ขอแต่ว่า ฝึกฝนเจริญวิชาธรรมกาย ให้แก่กล้าขึ้นเถิด “ธรรมกาย” เท่านั้นจะพิสูจน์อะไรทั้งหลายทั้งปวงได้

 

จากหนังสือ ผู้ใดเห็นดวงธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ตถาคตคือธรรมกาย หน้า 26  :  อ่านทั้งหมด | หน้าแรก