ผู้ใดเห็นดวงธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต

พระพุทธศาสนาสอนอย่างไร เราได้อะไรจากคำสอนนั้น

     พระพุทธศาสนา มีคำสอนอันประเสริฐ ผู้ปฏิบัติตามคำสอนย่อมหมดทุกข์ ได้รับความสุข ทั้งความสุขเบื้องต้น ความสุขชั้นกลาง และอมตสุข คือ ความสุขอันยิ่ง

     หากได้ฝึกจิตตามหลัก “มรรค ๘” ด้วยแล้ว ท่านจะได้บรรลุ “ธรรมกาย” เป็นผลให้หมดชาติ หมดภพไม่เวียนว่ายตายดับกันอีกต่อไป ขอแต่ว่า ทำความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธศาสนาให้เข้าใจ ให้รู้ “ถูกต้อง”อย่างจริงจัง ได้หลัก ได้กฎเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

     คำสอนของพระพุทธศาสนา มี ๓ ข้อ คือ

     ๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ  ไม่ทำบาปทั้งปวง

     ๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา  ทำกุศลให้พร้อมมูล

     ๓. สจิตฺตปริโยทปนํ ทำใจให้ผ่องใส

เอตํ พุทฺธานสาสนํ  คำสอน ๓ ข้อนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์

สรุปคำสอน

     ๑. ไม่ทำบาปหรือความชั่วด้วย กาย วาจา ใจ (เว้นทุจริต)

     ๒. ทำกุศลด้วย กาย วาจา ใจ (ประกอบสุจริต)

     ๓. ทำใจให้ผ่องใส ตามหลักมรรค ๘

๑. เว้นจากทุจริต คือ เว้นจากอกุศลกรรมบท ๑๐

     - กายทุจริต ๓

     - วจีทุจริต ๔

     - มโนทุจริต ๓

ก. กายทุจริต ๓ คือ

๑. ปาณาติบาต ทำให้ชีวิตสัตว์ตกล่วงคือ ฆ่าสัตว์

๒. อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ให้มาเป็นของตนด้วยการขโมย

๓. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม

ข. วจีทุจริต ๔ คือ

๑. มุสาวาท พูดเท็จ

๒. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด

๓. ผรุสวาจา พูดหยาบ

๔. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ

ค. มโนทุจริต ๓ คือ

๑. อภิชฌา โลภอยากได้ของเขา

๒. พยาบาท ปองร้ายเขา

๓. มิจฉาทิฏฐิ ประพฤติผิดจากคลองธรรม (ผิดศีลธรรม)

กรรม ๑๐ อย่างนี้ เป็นบาป ให้ละเว้น

ประกอบสุจริต คือ ประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐

กุศลกรรมบถ ๑๐ คือ

     - กายสุจริต ๓

     - วจีสุจริต ๔

     - มโนสุจริต ๓

ก. กายสุจริต ๓ คือ

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจาก การฆ่าสัตว์

๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจาก การลักขโมย

๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจาก การประพฤติผิดในกาม

ข. วจีสุจริต ๔ คือ

๑. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจาก การพูดเท็จ

๒. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจาก การพูดส่อเสียด

๓. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจาก การพูดคำหยาบ

๔. สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจาก การพูดเพ้อเจ้อ

ค. มโนสุจริต ๓ คือ

๑. อนภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา

๒. อพยาบาท ไม่ปองร้ายเขา

๓. สัมมาทิฏฐิ ประพฤติถูกต้อง ตามคลองธรรม (ถูกศีล ถูกธรรม)

กรรม ๑๐ อย่างนี้ เป็นทางบุญ ให้เพิ่มพูนเนืองนิจ

     ๒. การทำกุศลให้พร้อมมูล

     คำสอนข้อนี้ ทุกคนเข้าใจดีแล้วว่า การรักษาศีล การฟังเทศน์ การเจริญภาวนา การทำบุญทำทาน เป็นทางบุญ ควรเพิ่มพูนให้ยิ่งขึ้น

     เมื่อทำบุญมากเข้า จนบารมี ๑๐ ประการของท่านโตได้ส่วน ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมีปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี ท่านจะเห็น “ธรรมกาย” และสำเร็จเป็น พระอรหันต์

     ๓. ทำใจให้ผ่องแผ้ว

     สจิตฺตปริโยทปนํ แปลว่า การทำใจให้ใส เป็นคำสอนข้อที่ ๓ คำสอนข้อนี้ยากที่จะอธิบาย และยากแก่การเข้าใจ เรื่องของใจ เป็นเรื่องยากเสมอ เพราะ “ใจ” ไม่มีตัว ไม่มีตน จับต้องไม่ได้ แต่ใจมีอาการ

     อาการของใจ คือ เห็น จำ คิด รู้

     พูดอย่างเข้าใจง่าย “ใจ” คือ ความรู้สึก นึก คิด แม้กระนั้น เราก็ยังไม่กระจ่างชัด แต่เรามีความจำเป็นต้อง “ทำใจให้ใส” ตามคำสอนของพระศาสดา หากเรามีความเข้าใจเรื่องของ “ใจ” ไม่ถูกต้อง  เป็นผลทำให้ใจใสไม่ได้ เราจะไม่พบของวิเศษ ซึ่งของวิเศษนั้น เกิดแก่ผู้ทำใจให้ใสเท่านั้น

๑. ใจ คืออะไร

     - ใจ คือ เห็น จำ คิด รู้

     - เห็น จำ คิด รู้ รวม ๔ อย่างเข้าด้วยกัน เรียกว่า “ใจ”

เห็น  ได้แก่ การที่นัยน์ตามองเห็นและดูสิ่งของ มุ่งเอาความรู้สึกที่เรา “เห็น

จำ    ได้แก่ การที่จำคำสวด จำสิ่งของ จำสูตรคูณ มุ่งเอาความรู้สึกที่เรา “จำ”

คิด   ได้แก่ การที่เรานึกคิด เรื่องราวต่างๆ มุ่งเอาความรู้สึกที่เรา “คิด”

รู้      ได้แก่ อาการที่เราระลึกได้ นึกขึ้นได้ มุ่งเอาความรู้สึกที่เรา “รู้”

      ความหมายของคำว่า “ใจ” พอจะเข้าใจบ้างแล้ว คราวนี้เข้าไปอีกขั้นหนึ่ง พอบอกว่า “รวมใจ” ให้ท่านนึกรวมความคิด ความนึกเป็น “จุดเดียวกัน” ไม่ให้ไปนึกไปคิดมา ไม่ให้คิดโน่น นึกนี่

     นี่คือ ให้ความรู้สึกของ เห็น จำ คิด รู้ มารวมกัน แล้วเราจะเกิดความรู้สึกว่า ใจของเรามีกำลัง มีแรง
เป็นลักษณะของใจที่จะเข้าระเบียบจะเข้าระบบ ใช้สติ “กำกับ” ใจที่รวมกันนั้น ให้รวมกัน นาน ๆ แล้วจะเกิด “ความสว่าง” ทางใจทันที

     เมื่อใจรวมกันดังนี้ แสดงว่า พร้อมที่จะรับการพัฒนา ตามหลักของ “อริยมรรค ๘” ต่อไป

     ปัญหาสำคัญ ก็คือ ท่านจะให้ใจไปรวมกันที่ไหน

     ท่านจะเอาใจไปตั้งไว้ที่ไหน

     ถ้าเอาใจไปตั้งไว้ในที่ส่งเดช ย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไร หูก็ดี ตาก็ดี จมูกก็ดี ถ้าตั้งผิดที่แล้ว ดูไม่งามอย่างไร "การตั้งใจผิดที่” ย่อมเกิดความเสียหายใหญ่หลวง เพราะใจคือ ชีวิต ชีวิตคือใจ การตั้งใจผิดที่ คือ “ชีวิตเดินผิดทาง”

 

๒. จะรวมใจตั้งไว้ที่ตรงไหน

     ถ้าตั้งใจในที่ ถูก เราจะปลอดภัยไปตลอด

     ถ้าตั้งใจในที่ ผิด เราจะพลาดไปตลอดชีวิต

     จุดหมาย “ที่ตั้งของใจ” คือ ศูนย์กลางกาย อยู่ในท้องของเราตรงฐานที่ ๗ โปรดดูภาพ เมื่อตั้งใจไว้ตรงศูนย์กลางกายแล้ว ใจก็จะทำงาน งานของใจคือ แสวงหาทางเดิน แต่ทางเดินของกายกับทางเดินของใจไม่เหมือนกัน กายก็มีทางเดินของกาย ส่วนใจก็มีทางเดินของใจ ดังนี้คือ

     ก. กายมรรค (ทางเดินของกาย) มี ๓ คือ

          ๑. สถลมรรค (ทางบก)

          ๒. ชลมรรค (ทางน้ำ)

          ๓. อากาศมรรค (ทางอากาศ)

     ข. มโนมรรค (ทางเดินของใจ) มี ๕ อย่าง คือ

          ๑. มรรคอบาย ได้แก่ การประพฤติ อกุศลกรรมบถ ผู้ประพฤติไปสู่อบาย (ทุคติภูมิ)

          ๒. มรรคสวรรค์ ได้แก่ การประพฤติ กุศลกรรมบถ ผู้ประพฤติไปสู่สวรรค์ (สุคติภูมิ)

          ๓. มรรคทาง พรหม ผู้ประพฤติได้ รูปฌาน ๔

          ๔. มรรคทาง อรูปพรหม ผู้ประพฤติได้ อรูปฌาน ๔

          ๕. มรรคทาง นิพพาน ผู้ประพฤติได้ อริยมรรค ๘

 

๓. ใจของเราจะเลือกเดินมรรคทางใด

     ถ้าถามว่า ท่านจะเลือกเดินมรรคใด

     แน่นอน ท่านเลือกมรรคทางนิพพาน

     เมื่อเลือกมรรคทางนิพพาน ก็ต้องเรียนอริยมรรค ๘ ให้เข้าใจ เพื่อจะได้เดินตามหลักมรรค ๘ ได้ถูกต้อง

 

๔. มรรค ๘ เป็นอย่างไร

      อริยมรรค ๘ หรือมรรค ๘ นั้น เป็นดังนี้

     ๑. สัมมา วาจา วาจา ชอบ

     ๒. สัมมา กัมมันตะ การงาน ชอบ

     ๓. สัมมา อาชีวะ เลี้ยงชีพ ชอบ

๓ อย่างนี้เป็น ศีล

     ๔. สัมมา วายามะ ความเพียร ชอบ

     ๕. สัมมา สติ ระลึก ชอบ

     ๖. สัมมา สมาธิ ตั้งใจ ชอบ

๓. อย่างนี้เป็น สมาธิ

     ๗. สัมมา ทิฏฐิ ความเห็น ชอบ

     ๘. สัมมา สังกัปปะ ดำริ ชอบ

๒ อย่างนี้เป็น ปัญญา

     สรุปแล้ว มรรค ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาจึงเกิดแก่เราว่าทำอย่างไร จึงจะเข้าถึง ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะศีล สมาธิ ปัญญาเป็นมรรค ๘ ดังนั้น เราจึงต้องเรียนเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา กันต่อไป

 

๕. ศีล สมาธิ ปัญญา คืออะไร

     ศีล คืออะไร

     ศีล คือ การสำรวม กาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย การสำรวมกาย การสำรวมวาจา ให้อยู่ในบัญญัติ

     ศีล เราเห็นกันอยู่แล้ว ไม่ต้องอธิบาย

     ศีลใจ การสำรวมใจ ไม่ให้ละเมิดข้อศีล เราเห็นนักบวชปฏิบัติทุกวันอย่างนั้นเป็น “ปกติศีล” เป็น ศีลเบื้องต้น ไม่ใช่ศีลที่ควรแก่การงาน ยังไม่มีฤทธิ์เดชอะไร ใคร ๆ ก็ทำได้

 

     ศีล ที่ควรแก่การงานตามนัยมรรค ๘

     “ปกติศีล” สภาพใจที่สำรวม ไม่ละเมิดข้อศีล เช่น ไม่คิดฆ่าสัตว์ แต่ถ้าคิด ก็ระงับความคิดนั้นศีลในลักษณะนี้ กำจัดอวิชชาไม่ได้ กำจัดทุกข์ไม่ได้ กำจัดภัยไม่ได้ กำจัดโรคไม่ได้ ปกติศีล จึงไม่มีฤทธิ์ ไม่มีอานุภาพ กิเลสไม่กลัว ศีลลักษณะนี้

     อธิศีล คือ ศีลตามนัยมรรค ๘

     เป็นการรวมใจ ระวังใจ เข้มงวดกวดขันยิ่งกว่า “ปกติศีล”

     เป็นการรวมใจ ระวังใจ จนสภาพใจ ใสสะอาด เกิดความบริสุทธิ์ด้วย “ใจ” เป็นดวงแก้ว ใสสว่างโชติ ในท้องของตน คือ มีใจใสเหมือนดวงแก้วมณีโชติ ใจลักษณะนี้ เป็นสภาพใจตามแนวมรรค ๘ เรียกว่า “อธิศีล” เป็นใจที่ควรแก่งาน กำจัดอวิชชาได้ กำจัดทุกข์ได้ กำจัดภัยได้ กำจัดโรคได้ เป็นใจที่มีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพ

     กิเลส ตัณหา อุปาทาน กลัว อธิศีล ยิ่งนัก

     อธิศีล อยู่ที่ไหน กิเลสพังที่นั่น

     ถ้าอยากพ้นทุกข์ อยากกำจัดกิเลส จงทำ อธิศีล ให้เกิดแก่ใจตน

     สมาธิ คืออะไร

     สมาธิ คือ การตั้งใจมั่น หรือยึดมั่น อารมณ์ใด อารมณ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว สมาธิที่ว่านี้เป็น สมาธิเบื้องต้น ไม่เป็นสมาธิที่ควรแก่งาน

 

     ส่วน สมาธิ ตามนัยแห่งมรรค ๘ จำเป็นต้องประคองใจ ให้มั่นคงยิ่งขึ้น จนกระทั่งเห็นสภาพใจมั่น เป็นดวงใสด้วยใจตน จึงเป็นสมาธิที่ควรแก่งาน ควรทำให้เป็นขึ้น ทำให้มีขึ้น

     ปัญญา คืออะไร

     ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ การคิดได้ นึกได้ ให้ตั้งข้อสังเกตว่า ในภาวะที่ใจเราฟุ้งซ่าน เรามักนึกอะไรไม่ได้ คิดอะไรไม่ออกเกิดความสับสน

     แต่เวลาที่เราอารมณ์ดี หรือขณะที่ใจเราสงบระงับ เรามักคิดอะไรได้ นึกอะไรออก นี่คือ ถ้าสมาธิดีทำให้ปัญญาเรือง หากสมาธิทราม ปัญญาก็อ่อน

     ดังนั้น การฝึกดวงปัญญา ขึ้นอยู่กับการทำสมาธิ ถ้าดวงสมาธิเกิด ดวงปัญญาย่อมเกิดตาม เป็นอันสรุปได้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน เมื่อทำศีลให้เกิดขึ้นได้ สมาธิและปัญญา  ย่อมเกิดตามมาเองอย่างไม่ต้องสงสัย

     ขั้นตอนนี้ท่านเข้าใจ ศีล สมาธิ ปัญญา ตามหลักของมรรค ๘ แล้ว

     จากนี้ไปเป็นขั้นทดลองฝึกใจ ท่านจะมีวิธีทำอย่างไร ตั้งแต่ต้นจนปลาย เพื่อให้เกิด ดวงศีล  ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ตามแนวของมรรค ๘

 

บางส่วนจากหนังสือ ผู้ใดเห็นดวงธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ตถาคตคือธรรมกาย หน้า 16  :  อ่านทั้งหมด | หน้าแรก