วิธีการพัฒนาใจทำอย่างไร? 

     เราเรียนรู้มาแล้วว่า  การรวมใจทำอย่างไร  และทราบว่าจะต้องรวมใจที่ศูนย์กลางของกาย  เพื่อพัฒนาให้สว่างและให้ขาวใสต่อไป 

     วิธีการพัฒนาให้ใจเกิดความใสและสว่าง  เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเรียนรู้ก่อน  ปกติใจของเราไม่ใส  ไม่สงบ  ไม่ระงับ  เอาแต่คิดนึกเรื่องราวทั้งหลาย  เพียงนาทีเดียวก็คิดหลายเรื่อง  การจะทำให้ใจสงบและนิ่ง  เป็นเรื่องทำยาก  ท่านได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้ดังนี้ 

อุบายการทำใจให้สงบ 

     (๑.) กำหนดดวงนิมิตขึ้นก่อน  โดยใช้ดวงแก้วกลมขาวใสเป็นนิมิต  คือ  ให้มองดูดวงแก้วขาวใส  เพื่อให้ใจจำได้ 

     (๒.) น้อมเอาดวงนิมิตขาวใสกำหนดไว้ที่ศูนย์กลางของกาย  ส่งใจสัมผัสนิ่งที่ดวงนิมิตกลมขาวใสนั้น  พร้อมกับบริกรรมในใจว่า  สัม  มา  อะ  ระ  หัง  จำนวนร้อยครั้งหรือพันครั้ง 

      (๓.) ขณะบริกรรมในใจว่า  สัม  มา  อะ  ระ  หัง  ต้องไม่นึกไปในเรื่องอื่นใด  ปล่อยวางเรื่องที่จะคิดนึกเหล่านั้นเสียสิ้น  แม้เรื่องส่วนตัวเกี่ยวกับหน้าที่การงาน  ก็ไม่ต้องนำมาคิด  ทำสภาพใจให้ว่างจากเรื่องนึกคิดทั้งปวง  ใจคงนิ่งอยู่กับดวงนิมิตและการบริกรรมในใจตลอดไป  ลืมเรื่องหายใจเข้าออก  บริกรรมไปเรื่อยๆ และนึกให้ดวงนิมิตขาวและเกิดความสว่างยิ่งขึ้น แม้ใครทำเสียงโครมครามก็ไม่ส่งความรู้สึกไปรับรู้ 

     (๔.) วางใจเบา ๆ อย่าเกร็ง  พึงนึกทำสภาพใจอย่างใจของเด็กเล็ก  อย่าเกิดความอยากรู้และอย่าอยากเห็นล่วงหน้า 

     บริกรรม  สัม  มา  อะ  ระ  หัง  เรื่อยไป  จะรู้สึกเกิดความปลอดโปร่งทางใจ  รู้สึกสบายใจ  เกิดความสงบทางใจ  จนในที่สุด “ใจนิ่ง”  ไม่ส่าย  ไม่ไหว  ไม่ริบรัว  ดวงนิมิตกลมขาวใส  ก็จะเกิดความสว่างยิ่งขึ้น  เมื่อถึงขั้นนี้  อย่าให้เกิดความดีใจเป็นอันขาด  พึงวางใจเฉย ๆ ไม่ยินดี  ไม่ยินร้าย 

     หากท่านเกิดความดีใจ  หากท่านนึกเอาใจจึ้  ดวงนิมิตจรัสแสงจะหายไปทันที  ดังนั้น  จึงของร้องให้ท่านวางใจเฉย ๆ ภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกว่าดวงนิมิตเดิมหายไป  แล้วท่านจะเห็นดวงธรรมจริงของท่าน  มีลักษณะเป็นดวงเพชรขาวใสกลมสว่างโชติ  เท่าดวงดาวในอากาศก็มี  เท่าลูกหมากก็มี  เท่าผลส้มโอก็มี  เท่าเมล็ดข้าวโพดก็มีแต่อย่างใหญ่ไม่เกินดวงจันทร์  ดวงอาทิตย์  ขณะที่ท่านบริกรรมจนสภาพใจ  “หยุด”  และ  “นิ่ง”  ดวงนิมิตสมมุติที่เรากำหนดแต่แรกนั้นจะหายไป  และท่านจะเห็นดวงธรรมของท่านเอง  ช่วงนี้เป็นเหตุการณ์เร็วและฉับพลัน  ต้องสังเกตุให้ดี 

     ใครสามารถทำได้ดังกล่าวนี้  ถือว่าท่านพัฒนาใจเบื้องต้นได้แล้ว  ท่านเกิดความสุขทางใจ  สุขภาพอนามัยของท่านจะดีขึ้น  ความคิดปลอดโปร่ง  ความคิดถูกทาง  นอนหลับเป็นสุข  ฝันเป็นมงคล  คนที่เคยเป็นศัตรูจะกลับมาเป็นมิตร  นี่คือประโยชน์เบื้องต้นที่ท่านจะได้รับ  โทษไม่มีเลย 

     (๕.)   การพัฒนาใจ  ต้องฝึกติดต่อกัน  ไม่ทิ้งธุระ  ถือว่าการพัฒนาใจเป็นกิจสำคัญ  ทำได้ทุกอริยาบถ  ทั้งนั่ง  ยืน  เดิน  นอน  การฝึกจึงจะได้ผล 

     เมื่อทราบอุบายในการฝึกแล้ว  จากนี้ไปเป็นวิธีการฝึก  ว่ามีวิธีฝึกอย่างไร 


วิธีการฝึกให้สภาพใจใสสว่าง 

     ลำดับแรก  ให้ท่านดูภาพในท่าผ่าซีก  จำฐานทางเดินของใจ  ๗  ฐานให้ได้ 

     ลำดับที่ ๒  ให้ท่านดูดวงแก้วขาวใส  ดูแล้วให้นึกได้ด้วยใจ  เมื่อหลับตาแล้ว  จะต้องนึกมโนภาพของดวงแก้วขาวใสได้ 

     ลำดับที่ ๓  ขั้นปฎิบัติ 

     (ก.) ให้นั่งสมาธิ  คือ เท้าขวาทับเท้าซ้าย 

     (ข.)  มือขวาทับมือซ้าย  นิ้วชี้ขวาจรดหัวแม่มือซ้าย  แขน  ๒  ข้างไม่เกร็ง  ปล่อยตามสบาย 

     (ค.) ตั้งกายตรง  ไม่ค้อมหลัง  ตั้งใบหน้าให้ตรง  ไม่ก้มหน้า 

     จากนั้นให้หลับตา  ไม่ต้องขยี้ตา  เพียงหลับตาเบา ๆ  ให้นึกทำใจปลอดโปร่ง  ไม่คิดไปในเรื่องอื่นใดทั้งหลายทั้งปวง  พึงสลัดเรื่องขุ่นข้องหมองใจออกไปจากใจตน  เรื่องหน้าที่การงาน  และกิจการส่วนตัว  ไม่นำมาคิดนึกขณะฝึกใจ 

     ความรู้อื่นใดที่เคยอ่าน  เคยรู้  เคยได้ยิน  ให้ระงับความรู้นั้นไว้ก่อน  อย่านำมานึกคิดขณะฝึก  หากนำมาคิดนึก  จะทำให้การฝึกไม่ได้ผล  ให้นึกทำใจโปร่งใส  นึกทำใจปลอดโปร่ง  นึกทำใจเป็นใจเด็กไร้เดียงสา  เขาสอนแค่ไหน  ทำแค่นั้น  เขาสอนอย่างไร  ทำอย่างนั้น  ทำได้อย่างนี้  การฝึกจะก้าวหน้า  จากนั้น  พึงนึกถึงคำสอนของพระศาสดาข้อ ๓ ที่สอนให้ทำใจให้ใสนั้น  มีวิธีทำดังนี้ 

     นึกถึงดวงแก้วกลมขาวใสรัศมีโชติขนาดเท่าแก้วตา  แล้วน้อมใจให้ดวงแก้วใสไปตามจุดหมายในตัวเรา  ดังนี้

     (๑.) ฐานที่ ๑ ปากช่องจมูก (หญิงปากช่องจมูกซ้ายชายปากช่องจมูกขวา) 

     น้อมดวงนิมิตขาวใสมาที่ปากช่องจมูก  สำหรับหญิงน้อมมาที่ปากช่องจมูกข้างซ้าย  สำหรับชายน้อมมาที่ปากช่องจมูกข้างขวา  ส่งความรู้สึกทางใจสัมผัสนิ่งกลางดวงนิมิตใส  บริกรรมในใจว่า  สัม  มา  อะ  ระ  หัง  จำนวน ๓ ครั้ง  และนึกให้ดวงนิมิตสว่างโชติ

     (๒.) ฐานที่ ๒ เพลาตา  (หญิงเพลาตาซ้าย  ชายเพลาตาขวา) 

      จากนั้น  เลื่อนดวงนิมิตขาวใสมาที่ฐานที่  ๒  คือเพลาตา  สำหรับหญิงเพลาตาซ้าย  สำหรับชายเพลาตาขวา  บรรจุดวงนิมิตลงที่รูน้ำตาออก  สัมผัสนิ่งกลางดวงใส  บริกรรมในใจว่า  สัม  มา  อะ  ระ  หัง  จำนวน ๓ ครั้ง  และนึกให้ดวงนิมิตสว่างโชติ 

     (๓.) ฐานที่ ๓ จอมประสาท  จากนั้น  เลื่อนดวงใสไปที่จอมประสาท  อยู่ในกระโหลกศีรษะ  ให้เหลือกตา  คือทำตาขาวเหมือนคนเป็นลม  เลื่อนดวงนิมิตใสไปที่จอมประสาท  เพื่อให้ใจของเราไปรับรู้ข้างใน  และให้ลืมเรื่องเหลือกตาทันที  เอาความรู้สึกจรดนิ่งกลางดวงนิมิตใส  บริกรรมในใจว่า  สัม  มา  อะ  ระ  หัง  จำนวน ๓ ครั้ง  และนึกให้ดวงนิมิตใสสว่างโชติ 

     (๔.) ฐานที่ ๔  ปากช่องเพดาน  จากนั้น  เลื่อนดวงนิมิตใสมาที่ฐานที่ ๔ คือ  ปากช่องเพดาน  ได้แก่  จุดหมายที่เราสำลักน้ำสำลักอาหาร  ส่งใจสัมผัสนิ่งกลางดวงนิมิตใส  บริกรรมในใจ  สัม  มา  อะ  ระ  หัง  จำนวน ๓ ครั้ง  และนึกให้ดวงนิมิตใสสว่างโชติ

     (๕.) ฐานที่ ๕ ปากช่องลำคอ  จากนั้น  เลื่อนดวงนิมิตใสมาที่ฐานที่  ๕  คือ  ปากช่องลำคอ  อยู่ในหลอดลำคอ  แต่อยู่เหนือลูกกระเดือกนิดหนึ่งโดยประมาณ  ส่งใจสัมผัสนิ่งกลางดวงนิมิตใส  บริกรรมในใจ  สัม  มา  อะ  ระ  หัง  จำนวน ๓ ครั้ง  และนึกให้ดวงนิมิตใสสว่างโชติ

     (๖.) ฐานที่ ๖ ฐานของศูนย์กลางกาย  จากนั้น  เลื่อนดวงนิมิตใสไปในท้องเรา  ให้ได้ระดับสะดือ  สมมุติว่ามีเข็มร้อยด้าย  ๒  เล่ม  เล่มที่ ๑ สมมุติแทงจากสะดือตัวเราเองเป็นเส้นตรงทะลุข้างหลัง  อีกเล่มหนึ่งสมมุติว่าแทงจากสีข้างทางขวาเป็นเส้นทะลุสีข้างซ้าย  เห็นเป็นมโนภาพว่า  ในท้องเรามีเส้นด้ายตัดกันเป็นรูปกากบาท  จุดที่เส้นด้ายตัดกันนั้นคือ  ฐานของศูนย์กลางกาย  ให้เลื่อนดวงนิมิตใสตั้งไว้ตรงนั้น  ส่งใจนิ่งกลางดวงนิมิตใส  บริกรรมในใจว่า  สัม  มา  อะ  ระ  หัง  จำนวน ๓ ครั้ง  และนึกให้ดวงนิมิตใสสว่างโชติ

     (๗.) ฐานที่ ๗ ศูนย์กลางกาย  จากนั้น  เลื่อนดวงนิมิตใสจากฐานที่ ๖ ให้สูงขึ้นมาประมาณ  ๒  นิ้วมือตัวเอง  ส่งใจนิ่งกลางดวงนิมิตใส  บริกรรมในใจ  สัม  มา  อะ  ระ  หัง  จำนวน ๑๐๐ ครั้ง  และภาวนาเรื่อยไป  จนกว่าดวงนิมิตเดิมเกิดความสว่างยิ่งขึ้น  ชัดเจนยิ่งขึ้น  ในที่สุดดวงนิมิตเดิมจะหายไป  และเกิดดวงขาวใสดวงใหม่เกิดขึ้น  เป็นดวงธรรมแท้จริงของตัวเราเอง  มีขนาดของดวงต่างๆกัน  เช่น  เท่าดวงดาวในอากาศ  เท่าเมล็ดข้าวโพด  เท่าผลลูกหมาก  เท่าผลส้มโอ  แต่อย่างใหญ่ไม่เกินดวงจันทร์ดวงอาทิตย์

     ลักษณะของดวงธรรม  เป็นดวงแก้วขาวใสกลม  มีรัศมีสว่างโชติ  เหตุที่ดวงธรรมมีขนาดต่างกัน  ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีที่สร้างสมอบรมมาแต่อดีตชาติ  ใครสร้างสมอบรมบุญบารมีไว้มากดวงธรรมจะมีขนาดใหญ่  ท่านที่ดวงธรรมใหญ่  มักเรียนรู้เร็ว  ทำเป็นเร็ว

เมื่อเห็นดวงธรรมที่ศูนย์กลางกายเช่นนี้

แล้ว  พึงรักษาดวงธรรมให้สว่างจรัสเนืองๆ

ชีวิตของท่านจะเจริญก้าวหน้า  อารมณ์ของ

เราจะสว่างใส  สุขภาพอนามัยดี 

นอนหลับเป็นสุข  ตื่นขึ้นก็เป็นสุข

     พระศาสดาทรงรับรองเป็นภาษาบาลีว่า  นตฺถิ  สนฺติ  ปรํ  สุขํ   แปลว่า  ไม่มีความสุขใดเท่ากับความสงบทางใจ  บัดนี้  เราได้พิสูจน์ความจริงแล้ว  เราฝึกเพียงเบื้องต้น  ยังให้ผลแก่เราเพียงนี้  หากเราขยันหมั่นเพียรยิ่งขึ้น  นั่นคือประโยชน์อันไพศาลที่เราคาดไม่ถึง 

     แต่ถ้าเราไม่ขยันหมั่นฝึก  ดวงธรรมของเราไม่สว่างใส  เราจะมีอารมณ์หงุดหงิด  สุขภาพไม่ดี  สามวันดีสี่วันไข้  ไม่ว่าจะทำอะไรไม่ดีทั้งนั้น  เหตุนี้เอง  พระศาสดาจึงสอนว่า  ให้ทำใจให้สว่างใส  เพราะสภาพใจที่สว่างใสให้ประโยชน์สถานเดียว  ประโยชน์อันยิ่งใหญ่นั้น  เราจะได้เรียนต่อไปนี้

 

บางส่วนจากหนังสือ ทางรอดของมนุษย์ฯ หน้า 21  :  อ่านทั้งหมด | หน้าแรก