หลักของการเดินวิชา

     ได้แก่หลักกว้าง ๆ  ทั่วไป  ว่าการเดินวิชาตามแนววิชาธรรมกายนั้น  มีหลักที่เราต้องจดจำ  ดังนี้

     ๑.  เข้าสิบ   เข้าศูนย์   เข้ากลาง

     หมายความว่า  การเข้าหากายจะต้องเดินใจเข้าสิบของกายที่เราเข้าหา   สิบก็คือฐานที่  ๖.   เข้าศูนย์    คือเข้าดวงธรรมซึ่งอยู่ที่ฐานที่  ๗.   เข้ากลาง   หมายความว่า   จากดวงธรรมหนึ่งไปยังอีกดวงธรรมหนึ่งนั้น  จะต้องวางใจเข้ากลาง   คือกลางดวงธรรมมีจุดใสเท่าปลายเข็ม  จุดใสเท่าปลายเข็มคือกลาง   เมื่อสัมผัสใจถูกจุดใสเท่าปลายเข็มแล้ว   จุดใสเท่าปลายเข็มจะว่างออก   แล้วจะไปถึงดวงธรรมต่อไปเป็นอัตโนมัติ

     ๒.  วิธีเข้าหากาย จากกายหนึ่งไปยังอีกกายหนึ่ง  เดินใจ ไปตามฐาน  ๗  ฐานของกาย  ต่างกันแต่ว่าหญิงส่งใจเข้ากายใหม่   ทางปากช่องจมูกซ้าย  ชายส่งใจเข้าทางปากช่องจมูกขวา   แล้วลำดับ   ไปตามฐาน   ๗   ฐาน  หากจะย่นย่อก็คือ   เมื่อส่งใจไปถึงฐานที่ ๓ คือ   จอมประสาทแล้ว  ส่งใจนิ่งลัดฐานลงไปที่ดวงธรรมในท้องของกาย  ที่เราเข้าหาก็ได้

     ๓.  ในการเดินวิชา  ท่านให้นึกไว้เนือง  ๆ  ว่า  เข้ากลางเข้าไว้  คือกลางดวงธรรม  ตามที่กล่าวแล้ว  ไม่ให้นึกไปทาง  ซ้าย  ขวา หน้า หลัง  บน ล่าง  ระหว่างหัวต่อของกาย  ให้นึกเข้า “กลาง”  อย่างเดียว

     ๔.  ขณะที่ส่งใจนิ่งลงไปที่ดวงธรรม  และขณะที่จรดใจลงไปที่   “กลาง”  (จุดใสเท่าปลายเข็ม)   ของดวงธรรม  พึงบริกรรม หยุดในหยุดๆ  นิ่งในนิ่งๆ  และท่องหมุนขวาในหมุนขวาๆ   ที่ว่าหมุนขวาในหมุนขวานั้น  ก็คือเหมือนจรดปลายดินสอลงบนกระดาษหมุนขวาปลายดินสออยู่กับที่  จากนั้น กลางคือจุดใสเท่าปลายเข็มจะว่างออก  แล้วเราก็จะเห็นอะไรๆ  ต่อไป      เหตุผลที่ท่องหมุนขวา  ก็เพราะมารเขาทำหมุนซ้ายไว้  เราแก้โดยหมุนขวา

     ๕.  ในการเดินวิชา  ถือหลักให้ไปถึงละเอียดเข้าไว้   ครั้นไปถึงละเอียดอย่างใหม่    ก็ให้ไปถึงละเอียดและละเอียดต่อไปอีก    ละเอียดเดิมใช้ไม่ได้  ต้องไปถึงละเอียดในละเอียดต่อไปอีก  หลวงพ่อท่านมักจะพูดว่า  “ดับหยาบไปหาละเอียด”   ไปถึงละเอียดใด  ให้เอาละเอียดนั้นเป็นหยาบ  และเดินวิชาจากหยาบนั้นไปหาละเอียดต่อไปอีก

     ๖.  ความรู้ที่เราจะฟังได้   ได้แก่ความรู้ที่เราไปถึงละเอียดที่สุด  เท่าที่เราจะสามารถเดินวิชาไปถึงได้  หากเดินวิชาไปยังไม่ถึง   ละเอียดจริง  ความรู้นั้นเพียงแต่ฟังหูไว้หูก่อน   แม้เราจะเรียนมานานก็จริง  จะฝึกมานานก็จริง  หากการเดินวิชาของเรายังไปไม่ถึงละเอียดจริง  เราก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อความรู้นั้น  ความรู้นั้นยังต้องศึกษาและฝึกต่อไป

    ๗.  ความรู้ที่เราจะฟังได้  ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ  ต่อไปนี้

        (ก.) กายและดวงธรรมต้องใสและขาว

        (ข.) ความหยุด   ความนิ่งแห่งใจ   ต้องไม่   ริบ   ส่าย     ไหว   รัว

        (ค.) การเห็น   จะต้องเห็นที่  “กลาง” คือกลางจุดใสเท่าปลายเข็มของดวงธรรม  และ  “กลาง”  นั้น  จะต้องขาวใสด้วย   หมายความว่าธรรมภาคมารไม่มีที่ “กลาง”  นั้นเลย  หากมีจุดดำเพียงนิดเดียว   ก็ใช้ไม่ได้

        จุดดำนิดเดียวนั้นคือความไพศาลของมารเขาสามารถทำนิพพาน  ภพ ๓ โลกันต์   มากน้อยเท่าไร  มารวมเป็นจุดดำนิดเดียวได้  จุดดำนี้  สามารถทำให้ญาณทัสสนะของเราผิดได้เสมอและหากเป็นจุดสีอื่นที่ไม่ดำแต่ไม่ขาว  ก็คือธรรมของภาคกลาง   จะทำให้ความรู้ของเรามีทั้งผิดและถูกปนกัน

     หลักของการเดินวิชา  ๗  ประการนี้   เป็นเบื้องต้น   โปรด   ทบทวนและทำความเข้าใจ

                                

บางส่วนจากหนังสือแนวเดินวิชาหลักสูตรคู่มือสมภารของหลวงพ่อวัดปากน้ำ  หน้า 11  :  อ่านทั้งหมด | หน้าแรก