วัดปากน้ำ

หลวงพ่อไปอยู่วัดใดบ้างและได้ทำอะไรที่วัดเหล่านั้น

     หลวงพ่อได้จาริกไปอยู่หลายวัด แต่ละวัดที่ไปอยู่ได้ทำประโยชน์ เท่าที่ค้นคว้าได้มีดังนี้ วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี วัดโพธิ์ กรุงเทพ ฯ วัดชัยพฤกษ์มาลา กรุงธนบุรี วัดบางคูเวียง (วัดโบสถ์บน ต.บางคูเวียง) จังหวัดนนทบุรี และวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี เหตุการณ์และผลงานมีดังนี้

๑. วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

     วัดสองพี่น้อง ต้องจัดว่าเป็นวัดสำคัญ เพราะเป็นวัดที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อหลายอย่าง คือ เป็นวัดที่ครอบครัวของหลวงพ่อทำบุญวัดนี้เป็นวัดที่หลวงพ่อรับการศึกษาเบื้องต้น เป็นวัดที่หลวงพ่ออุปสมบท เป็นวัดแรกที่หลวงพ่อเรียนกัมมัฏฐาน เป็นวัดแรกที่หลวงพ่อจำพรรษา เป็นวัดที่หลวงพ่อตั้งทุนการศึกษา เพื่อตั้งโรงเรียนปริยัติธรรม และเมื่อหลวงพ่อเป็นเด็ก หลวงพ่อก็มาเล่นที่วัดนี้เหมือนกัน เพราะญาติของหลวงพ่อบวชอยู่วัดนี้ หลวงพ่อมารับการศึกษาเบื้องต้น จำเป็นต้องมาเล่นที่วัดนี้ จึงว่าวัดสองพี่น้องเป็นวัดสำคัญ

     เป็นการบังเอิญหรืออย่างไรไม่ทราบ ที่ผู้เขียนเคยเป็นเด็กวัดสองพี่น้อง เรียนหนังสือระดับมัธยมศึกษาที่วัดนี้ เป็นเวลา ๕ ปี ตั้งแต่ ม.๑-ม.๕ (พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๕) จากโรงเรียนราษฎร์ของวัด ชื่อโรงเรียนอุภัยภาดาวิทยาลัย เจ้าอาวาสวัดสองพี่น้องสมัยนั้น คือ พระครูอุภัยภาดารักษ์ ชื่อของโรงเรียนใช้ชื่อเจ้าอาวาส อยู่ในความอุปถัมภ์ของวัด โรงเรียนใช้อาคารของวัดเป็นสถานที่เรียน

     กล่าวถึง การศึกษาปริยัติธรรมของวัดสองพี่น้อง มีทั้งแผนกนักธรรมและบาลี มีภิกษุ และสามเณรหนึ่งร้อยเศษ เด็กวัดไม่ต่ำกว่าร้อย คณะที่มีพระเณรมากที่สุดคือ แผนกเรียนบาลี ส่วนพระนวกะที่บวชตามฤดูกาล จะเรียนนักธรรม การบวชตามฤดูกาลเคร่งครัดมาก ใครมีอายุครบบวช จะต้องบวชทุกคน ไม่มียกเว้น ใครไม่บวชถือว่าผิดประเพณี อาจถึงกับตัดญาติขาดมิตรกันทีเดียว ใครไม่บวชจะไปขอลูกสาวใคร จะได้รับการปฏิเสธ หากใครได้เปรียญ จะได้รับค่านิยมสูง

     งานการเรียนบาลีอยู่ในการปกครองของ พระครูสุนทรปริยัติกิจ (เก็บ ภทฺทิย ป.ธ. ๗) ครูสอนบาลีได้แก่ พระมหาธรรมนูญ วงษ์บัณฑิต (ป.ธ. ๗) พระมหาจิต ใจสัจจะ (ป.ธ. ๖) พระมหาสุจิตร สุวรรณศิริ (ป.ธ. ๕) พระมหาฉลองและพระมหาสมุน (จำประโยคของท่านไม่ได้)ฯ

     ปีหนึ่งสำนักเรียนวัดสองพี่น้อง มีผู้สอบได้เปรียญจำนวนมาก สำนักเรียนนี้โด่งดัง ใครก็สู้ไม่ได้ในสมัยนั้น จำได้ว่ากลางคืน เราจะได้ยินเสียงท่องหนังสือ ไม่ว่าจะเดินไปคณะไหน มีแต่เสียงท่องหนังสือของพระเณรประชันเสียงกับนักเรียนมัธยม เพราะนักเรียนมัธยมส่วนใหญ่เป็นเด็กวัด เป็นบรรยากาศการเรียนอย่างแท้ แถมยังมีเสียงของนาคท่องมนต์และขานนาคประดังเข้ามาอีก หากใครเป็นคนช่างจำ เราไม่ต้องท่อง เพียงแต่เราเดินผ่านไปสัก ๒ เที่ยว เราแอบจำได้เกือบหมด เด็กวัดรุ่นข้าพเจ้าจำบทสวดมนต์ได้หลายบทโดยไม่ต้องท่อง

     การเรียนบาลีของสำนักเรียนวัดสองพี่น้อง เขาแปลเป็นทำนองน่าฟัง เสียงแปลหนังสือของพระเณรดังไปไกล ใครแปลผิดแปลถูก เราทราบ สามเณรผู้หนึ่งแปลหนังสือไม่ได้ คนฺตฺวา แปลว่าไปแล้ว สามเณรน้อยท่านก็ว่า คนฺตฺวา อยู่ ๓ ครั้งแล้วก็หยุด ครูเขาก็ว่า แปลไปซี แต่เป็นเพราะแปลไม่ได้ จึงหยุดอยู่แค่นั้น กล่าวถึงเพื่อนของสามเณรอีกรูปหนึ่ง เกรงว่าเพื่อนสามเณรจะถูกครูเขาทำโทษ จึงเอาผ้าแดงห่อช้อนโบกไปกับลม สามเณรในชั้นเรียนเห็นผ้าแดงโบก ก็นึก คำแปลได้จึงขึ้นว่า คนฺตฺวา แดงไปแล้ว เท่านั้นเอง ครูก็เอาชอล์กปามา เพราะแปลผิด ครูเขาถามว่า เอาแดงมาจากไหน เพราะคนฺตฺวา แปลว่า ไปแล้ว พอสามเณรออกจากชั้นเรียน ได้ถามว่าเวลาครูเขาปามาทำไมเราไม่หลบ สามเณรตอบว่า “ถ้าเราหลบเดี๋ยวครูปามาอีก” คือถ้าหลบแล้ว ชอล์กจะไม่ถูกเรา เพราะเราหลบ ครูจะไม่หายโกรธ เดี๋ยวจะปามาอีก ตลกแปลบาลี รุ่นผมยังได้ยิน

     คณะที่เรียนบาลี มีโรงครัวด้วย ทราบว่าหลวงพ่อไปตั้งทุนการศึกษาให้ จึงตั้งสำนักบาลีได้ มหาเปรียญรุ่นนั้น ลาสิกขาไปก็มาก และที่อยู่เป็นกำลังสำคัญของพระศาสนาก็มี เช่น พระมหาฉลอง ได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรีมีราชทินนามว่า พระเทพสุพรรณาภรณ์ (วัดป่าเลไลยก์ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี)

พระกัมมัฏฐานสำคัญ

ของอำเภอสองพี่น้องสมัยหลวงพ่อบวช

     พระกัมมัฏฐานสำคัญ คือ หลวงพ่อเหนี่ยง (พระครูวินยานุโยค) เจ้าอาวาสวัดสองพี่น้อง และหลวงพ่อโหน่งเป็นพระลูกวัดในวัดสองพี่น้อง พระเถระสำคัญนี้ อยู่วัดเดียวกัน โด่งดังขึ้นมาพร้อมกันด้วยวิชากัมมัฏฐาน

     หลวงพ่อเหนี่ยง เป็นชาว “บ้านต้นตาล” อำเภอสองพี่น้อง และหลวงพ่อโหน่งเป็นชาว “ท้ายบ้าน” อำเภอสองพี่น้อง บ้านต้นตาลและบ้านท้ายบ้านอยู่ไม่ไกลกัน ส่วนหลวงพ่อวัดปากน้ำเกิด “บ้านสองพี่น้อง” ทั้งบ้านต้นตาล บ้านท้ายบ้านและบ้านสองพี่น้อง ไม่ห่างกันเลย ดินแดนเหล่านี้เป็นที่เกิดของโพธิสัตว์

     หลวงพ่อเหนี่ยงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของหลวงพ่อ และหลวงพ่อโหน่งเป็นพระอนุ สาวนาจารย์ของหลวงพ่อ ดังนั้น หลวงพ่อวัดปากน้ำบวชโดยกัมมัฏฐานนั่นเอง เนื่องจากคู่สวดเป็นพระกัมมัฏฐานทั้งคู่

     กล่าวถึงหลวงพ่อโหน่ง ต่อมาย้ายจากวัดสองพี่น้องไปเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ไม่ไกลจากวัดสองพี่น้องเท่าไรนัก (เดิมวัดอัมพวัน เรียกว่า วัดดอนมะดัน ต่อมาเรียกวัดคลองมะดัน สุดท้ายเรียกวัดอัมพวัน) หลวงพ่อโหน่งนี้ดังเอามาก ๆ แม้ตายไปนานแล้ว ปัจจุบันนี้ก็ยังดังอยู่ พระเครื่องของท่านเป็นที่แสวงหาแก่คนทั้งหลาย รถยนต์โดยสารทุกคันในจังหวัดสุพรรณบุรี ต้องมีรูปถ่ายของหลวงพ่อโหน่ง ติดไว้หน้ารถ เมื่อท่านเข้าเขตอำเภอสองพี่น้อง เทศบาลเขาเขียนป้ายว่า “ขอให้ท่านเดินทางโดยสวัสดิภาพด้วยอานุภาพของหลวงพ่อโหน่ง”

     คำบอกเล่าที่ได้ยินสืบต่อกันมาเกี่ยวกับหลวงพ่อโหน่งก็คือ ท่านมักนั่งเจริญภาวนาตามโคนไม้ น้ำมนต์ของท่านรินไม่ออกจากขวด แม้ลมพายุแรงหลวงพ่อโหน่งสามารถทำให้ลมหยุดได้ เห็นท่านที่ไหนจะพบท่านในอิริยาบถหลับตาภาวนา เรื่องนี้คล้ายหลวงปู่ชั้ว โอภาโส (ท่านคงรู้จักหลวงปู่ชั้ว โอภาโส เดิมท่านอยู่วัดสองพี่น้อง ต่อมาท่านมาอยู่วัดปากน้ำ เรียนวิปัสสนากับ หลวงพ่อวัดปากน้ำ สมัยที่ข้าพเจ้าเป็นเด็กวัดสองพี่น้องนั้น เห็นหลวงปู่ชั้วที่ใด มักพบท่านหลับตาในอิริยาบถเจริญภาวนา หลวงปู่ชั้วเป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาธรรมกาย สมัยที่ข้าพเจ้าไปเรียน วิชาธรรมกายในวัดปากน้ำ ยังได้พบหลวงปู่ชั้วที่วัดปากน้ำ)

     สำหรับหลวงพ่อเหนี่ยง เป็นที่นับถือของชาวบ้าน เชื่อว่าท่านมีสภาพใจสูง สามารถ ยกจิตข้ามเวทนาได้ เพราะหลวงพ่อเหนี่ยงมีประวัติว่าเป็นฝีเม็ดใหญ่ที่ก้น น่าเจ็บปวด แต่ปรากฏว่าหลวงพ่อเหนี่ยงทำวัตรสวดมนต์และลงอุโบสถเป็นปกติ เหมือนหนึ่งไม่เจ็บไข้อะไร จึงเป็นที่ยกย่องและเป็นที่ศรัทธาของประชาชน

     ข้าพเจ้าเกิดไม่ทันหลวงพ่อเหนี่ยงและหลวงพ่อโหน่ง แต่ข้าพเจ้าเคยเป็นเด็กวัดสองพี่น้องเรียนหนังสือระดับมัธยมศึกษา ได้ยินได้ฟังเรื่องราวของหลวงพ่อเหนี่ยงและหลวงพ่อโหน่งมาบ้าง จึงนำมาเขียน โดยเหตุที่พระเถระทั้ง ๒ มีความเกี่ยวข้องกับหลวงพ่อวัดปากน้ำ ข้าพเจ้าต้องจดจำไว้บ้าง

สุพรรณบุรีดินแดนพระเครื่อง โบสถ์งาม

ปลาเนื้อหอมหวาน คือแดนเกิดของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

     หลวงพ่อวัดปากน้ำเป็นคนสุพรรณบุรี แต่สุพรรณบุรีเป็นแดนแห่งพระเครื่อง โบสถ์งาม ปลารสหอมหวาน หลวงพ่อคุ้นกับบรรยากาศเช่นนั้น สำนักกัมมัฏฐานประเภททำใจให้ใสตาม คำสอนของพระศาสดาที่ว่า สจิตฺตปริโยทปนํ นั้น ยังไม่มี มีแต่ค่านิยมทางพระเครื่อง

     พระเครื่องเมืองสุพรรณมีชื่อมาก อย่างเช่น ผงสุพรรณ ขุนแผน บ้านกร่าง วังหน้า โคนสมอ ถ้ำเสือ มเหศวร ฯลฯ เป็นต้น พูดถึงเนื้อพระเครื่อง นักเลงพระเครื่องเชื่อว่า ไม่มีที่ใดเกินกรุถ้ำเสือ

     เรื่องโบสถ์งาม ต้องยอมรับว่า วัดในจังหวัดสุพรรณบุรีมีจำนวนมาก แต่ละวัดล้วนสวยงาม โบสถ์มักมุงหลังคาด้วยกระเบื้องสีแดง หากลงเรือแล่นไปในท้องที่อำเภอบางปลาม้า ในฤดูน้ำท่วม ท่านจะเห็นความงามของวัด เหมือนหนึ่งประกวดกันในเรื่องวัดงาม แสดงถึง ว่าพี่น้องประชาชนบำรุงพระศาสนาเป็นอันดี

     ปลามีรสหอมหวาน เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรี แม้หนังสือโบราณคดีซึ่ง กรมพระยาดำรงราชานุภาพนิพนธ์ไว้ว่า รับประทานข้าวสวยกับปลาเค็มมีรสอร่อยมาก ไม่ว่าจะเป็นปลาช่อน ปลาชะโด ปลาสลิด หากนำมาทำเป็นปลาเค็มแล้ว มีรสหอมหวาน ชวนรับประทาน มีเท่าไรก็ไม่พอขาย เคยถามผู้รู้ว่า เหตุใดปลาเมืองสุพรรณฯ จึงมีรสหอมหวาน ท่านตอบว่า เมืองสุพรรณ ฯ มีลำคลอง และหนองน้ำเป็นดินโคลน ไม่มีทรายเจือปน เนื้อปลาจึงหอมและหวาน

     คนสุพรรณฯ พิถีพิถันเรื่องอาหารการกินมาก รสอาหารต้องอร่อย ถ้าไม่อร่อยต้องไปตามคนมีฝีมือมาทำ จะทำงานแต่ละครั้ง ไม่ว่างานบวชนาคหรือแต่งงาน เจ้าภาพต้องเดินทางไปตามพ่อครัวผู้มีฝีมือเฉพาะอย่างมาประกอบอาหาร เอตทัคคะเหล่านั้นอยู่กันคนละมุมเมือง กว่าจะลงเอยเรื่องพ่อครัว ใช้เวลาติดต่อแรมเดือน หากแขกติว่าอาหารไม่อร่อย เจ้าภาพจะเสียใจมาก แต่ถ้าชมว่าอาหารอร่อย เจ้าภาพจะชื่นใจ อย่างน้ำพริก แกงจืด แกงเผ็ด ต้มยำ พ่อครัวหรือแม่ครัวต้องรับผิดชอบคนละอย่าง คนเดียวจะทำหลายอย่างไม่ได้

     เคยถามคุณยายเจ้าของน้ำพริก ทำไมน้ำพริกคุณยายอร่อยนัก คุณยายตอบว่า เวลาหยิบของต้องกลั้นใจ และอย่าตำมาก เอาเพียงว่าพริกแหลก ฝึกครกแรก เมื่อตักน้ำพริกหมดครกแล้ว ให้เอาน้ำข้าวคลุกก้นครกทันที คุณยายท่านบอกอย่างนั้น

     วัตถุดิบที่จะใช้ประกอบอาหาร ต้องเลือกสรรมาจากตำบลมีชื่อ จะซื้อปลาซื้อผัก อย่างธรรมดาไม่ได้

     อย่างเช่นปลาสลิด ต้องนำมาจากดอนกำยาน (ท้องที่อำเภอเมืองสุพรรณบุรี)

     น้ำตาลต้องเอาจากดอนมะเกลือ (ท้องที่อำเภออู่ทอง)

     มะเขือต้องมาจากโคกยายเกตุ (ท้องที่อำเภออู่ทอง)

     ผักกระเฉดต้องมาจากดอนพุดซา (ท้องที่อำเภอบางปลาม้า)

     เขาพูดเป็นคำคล้องจองไว้ว่า “ปลาสลิดดอนกำยาน น้ำตาลหวานดอนมะเกลือ มะเขือโคกยายเกตุ ผักกระเฉดดอนพุดซา”

     เรามาคิดดูว่า คำกลอนของดีทางอาหารเมืองสุพรรณ ฯ กว่าจะเป็นคำคล้องจองกันเช่นนั้นได้ ย่อมแสดงว่าใช้เวลาพิสูจน์กันยาวนาน ไม่ทราบว่าจะกี่ร้อยปี กว่าจะพิสูจน์กัน และกว่าจะเป็นคำกลอนขึ้นได้ และกว่าจะพูดกันให้ติดปาก คงใช้เวลานานไม่น้อย

     สถานที่ตามอำเภอเหล่านั้น คงจะมีแร่ธาตุอะไร ปลูกอะไรลงไป จึงมีรสชาติดีไปหมด แม้อำเภอสองพี่น้อง อันเป็นอำเภอที่หลวงพ่อวัดปากน้ำเกิด แม้เราจะนิยมว่าปลาเค็มรส หอมหวาน เขายังไม่นำเข้าสูตรอาหารดีเมืองสุพรรณ ฯ เขายังไม่ยอมนำเข้าทำเนียบ คงจะเห็นว่าอร่อยสู้ปลาดอนกำยานไม่ได้นั่นเอง

     ข้าพเจ้านำเรื่องของดีทางอาหารมากล่าว ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า เมืองสุพรรณฯ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำ มีอะไรดีๆ ทั้งนั้น ร่างกายของหลวงพ่อปรุงแต่งด้วยอาหารอันโอชะ หลวงพ่อจึงมีจิตใจมั่นคง บากบั่นจนบรรลุธรรมวิเศษ ขณะที่เขียนอยู่นี้ ชื่อเสียงของหลวงพ่อเลื่องลือไปทั่วโลกแล้ว เขาเห็นว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำมีอภินิหาร บัดนี้หลวงพ่อตายไปแล้วกว่า ๓๗ ปี อภินิหารของหลวงพ่อยิ่งเฟื่องฟู ชื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำเข้าสูตร “อภิมหาอมต นิรันดร์กาล” ไปแล้ว

     กลับมาศึกษาประวัติของหลวงพ่อต่อไป ข้าพเจ้าบรรยายว่า สุพรรณบุรี ดินแดน พระเครื่องโบสถ์งาม ปลาเนื้อหอมหวาน เรามาเรียนกันว่า หลวงพ่อสนใจสิ่งเหล่านี้เพียงใดหรือไม่

     จากการศึกษาค้นคว้า จะพบว่า หลวงพ่อไม่นิยมพระเครื่อง ทั้งที่เมืองสุพรรณฯ มีพระเครื่องมากมาย แต่หลวงพ่อกลับไม่สนใจ

      ในเรื่องปลารสหอมหวานนั้น หลวงพ่อคุ้นอยู่มาก หากคนสุพรรณฯ ขึ้นไปเยี่ยมและ นำปลาเค็มไปถวาย ดูว่าหลวงพ่อฉันได้มาก ยุคนั้นเนื้อปลาอร่อยกว่าสมัยนี้ เพราะไม่มีสารเคมี ไม่มียาปราบศัตรูพืช

      กลับมาพิจารณาการฝึกกัมมัฏฐาน หลวงพ่อสนใจมาก ใครว่าอะไรดีที่เมืองสุพรรณ หลวงพ่อติดตามไปเรียนทั้งนั้น ไปเรียนจนทั่ว แต่สุดท้าย แนวการฝึกกัมมัฏฐานที่หลวงพ่อค้นคว้าได้ ไม่เหมือนของเกจิอาจารย์เหล่านั้น ไม่เหมือนกับที่เรียนจากเกจิอาจารย์ เป็นเรื่องที่แปลกเอามากๆ

      ท่านผู้ศึกษาอยากทราบในบัดนี้ว่า หลวงพ่อบรรลุกัมมัฏฐานอะไรหรือ โปรดอย่าใจร้อน โปรดอดใจไว้เพื่อไปดูลีลาชีวิตของหลวงพ่อตอนไปอยู่วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพน ฯ) ท่าเตียน แล้วท่านจะเห็นความอัศจรรย์ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ในบทบาทของพระสด จนฺทสโร ภิกษุลูกวัดของ วัดโพธิ์ครั้งนั้น

๒. วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) กรุงเทพมหานคร

     หลวงพ่อวัดปากน้ำในนามของภิกษุหนุ่มพระสด จนฺทสโร ออกจากวัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มาอยู่วัดโพธิ์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยตามคติของพระสงฆ์ ถือหลักว่าบวชแล้วต้องเรียน จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ การเรียนนั้นก็ต้องเลือกสำนักเรียน ว่าสำนักใดขึ้นชื่อลือนาม อย่างสมัยพุทธกาล ก็ต้องไปเรียนที่นครตรรกศิลา เป็นต้น

     หลวงพ่ออยู่วัดโพธิ์หลายพรรษา ถือว่าเป็นสถานที่พำนักสำคัญของหลวงพ่อ หลวงพ่อเรียนพระปริยัติธรรม จนถึงได้ขั้นประกาศนียบัตรพัดเทียบเปรียญ

     แต่เหตุการณ์การเล่าเรียนของหลวงพ่อไม่เหมือนใคร ลำบากยากเข็ญลุ่มๆ ดอนๆ จวนอยู่จวนตาย จะได้อะไรสักอย่าง ถึงขั้นต้องเอาชีวิตเป็นเดิมพันทั้งนั้น ไม่เคยได้อะไรง่ายเหมือนเขาอื่น ยิ่งอ่านไปก็ยิ่งสงสารหลวงพ่อ เกิดมาคราวนี้พบแต่ความยากเย็นแสนเข็ญทั้งนั้น ความยากลำบากทั้งปวงเหมือนเป็นยาหอมชะโลมใจ หลวงพ่อเกิดมีมานะอดทนเดินหน้ากล้าตาย กล้าทำและ กล้าพัฒนา เล่ากันว่าหลวงพ่อเป็นนักเรียนบาลี เอากุฏิของท่านตั้งเป็นสำนักเรียนบาลี อาราธนาพระมหาปิ วสุตตมะ (ป.ธ.๕) เป็นครูสอนบาลี หลวงพ่อเป็นฝ่ายจัดหาเงินเดือนค่าสอนถวาย เพื่อให้มีการเรียนบาลีเกิดขึ้น ในเรื่องนี้หลวงพ่อมีบทบาท ๓ บท คือ เป็นนักเรียนบาลีด้วย ต้องเข้าห้องเรียนเมื่อพระมหาปิเข้าสอน มีบทเป็นผู้จัดการโรงเรียนและมีบทบาทหาเงินมาจ้างครู สำนักเรียนบาลีของหลวงพ่อในคราวนั้น ตั้งอยู่ไม่นานก็ต้องเลิกไป เนื่องจากทางการคณะสงฆ์เปลี่ยนหลักสูตรเรียนใหม่ เพราะหนังสือเรียนเดิมใช้ไม่ได้ จำต้องใช้ตำราเล่มใหม่

     ประวัติหลวงพ่อตอนใช้กุฎิหลวงพ่อเป็นสำนักเรียนที่วัดโพธิ์นั้น หลวงพ่อยังเป็น พระหนุ่มๆ กล้าแสดงออกถึงการแก้ปัญหาการศึกษาเป็นลางบอกว่า หลวงพ่อเป็นนักพัฒนาการศึกษา เห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็น จึงกล้าทุ่มเท เป็นพระลูกวัดยังถึงปานนี้ หากเป็น เจ้าอาวาส ย่อมมีอำนาจการบริหาร จะสักขนาดไหน หลวงพ่อเป็นผู้ใคร่การศึกษามาแต่หนุ่มๆ แล้ว ขาดเรียนไม่เป็น เล่าท่องไม่เลิก ตำราไม่วางห่างตัว เป็นที่ศรัทธาแก่ผู้พบเห็น ดังนั้น จะทำอะไรต้องอ้างชื่อหลวงพ่อ เพราะเขาศรัทธาหลวงพ่อ มีอะไรเขาก็ให้ อ้างชื่อหลวงพ่อแล้ว เป็นอันสำเร็จทุกเรื่อง

     ประวัติหลวงพ่อที่เรียนบาลี มีความขัดสนอาหารการฉัน ไปบิณฑบาตไม่ได้ข้าว แล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีอะไรกิน อย่างเราไม่เป็นไร กระเสือกกระสนไปได้ แต่หลวงพ่อเป็น พระไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะต้องบังคับตนให้อยู่ในวินัยของพระ จะไปหาใครหรือออกปากขออะไร ทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะวินัยบังคับอยู่ หลวงพ่ออดอาหารเพราะบิณฑบาตไม่ได้ข้าว หลวงพ่อไม่มีทางเลือกอื่น หลวงพ่อตัดสินใจยอมตาย ดังเรื่องราวต่อไปนี้

การอุทิศชีวิตยอมตายครั้งที่ ๑

     เป็นเหตุการณ์ที่หลวงพ่ออยู่วัดโพธิ์ เป็นยุคที่หลวงพ่อกำลังศึกษาคันถธุระ ไปบิณฑบาตแล้วไม่ได้อาหาร จึงไม่มีอะไรจะฉัน หลวงพ่อยอมตาย โดยให้เหตุผลว่า “ผู้มีศีลจะอดตายหรือ”

     คุณแฉล้ม อุศุภรัตน์ ได้เขียนไว้ว่า หลวงพ่ออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตร

     วันแรกไม่ได้อาหารเลย

     วันที่ ๒ ได้เพียงส้ม ๑ ผลเท่านั้น

     เหตุนี้เอง หลวงพ่อมาคิดว่า “ผู้มีศีลจะอดตายเช่นนั้นหรือ” ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง หลวงพ่อยอมตาย

     เมื่อบิณฑบาตไม่ได้ข้าว หลวงพ่อก็ไม่ฉันของอื่น ยอมอด ด้วยคิดว่า ถ้าเราตายลงไป ภิกษุหมดทั้งนครต้องมีอาหารบิณฑบาตพอฉันทุกรูป เพราะข่าวการตายของเราจะแพร่ออกไป ว่าภิกษุอดอาหารตาย คนเขารู้เข้าก็จะพากันสงสาร ก็จะมาถวายแก่ภิกษุสามเณร พระภิกษุสามเณรจะไม่อดอยาก คิดดังนั้นแล้ว หลวงพ่อก็ไม่ดิ้นรนหาอาหาร คงศึกษาเล่าเรียนคันถธุระไปตามปกติ

     วันที่ ๓ หลวงพ่อไปบิณฑบาตอีก เดินอยู่จนสาย ได้ข้าว ๑ ทัพพีกับกล้วยน้ำว้า ๑ ผล เดินกลับมาถึงกุฏิด้วยความเหนื่อยอ่อน เพราะไม่ได้ฉันอาหารมา ๒ วันแล้ว ร่างกายอ่อนเพลียมาก ปวกเปียกหากเป็นลมก็คงตาย

     หลวงพ่อจะเริ่มฉันอาหารจึงนั่งลงจับอาหารในบาตร พิจารณาปัจเวกขณ์เสร็จแล้ว เปิบอาหารฉันไปคำหนึ่ง     

     ไม่ทันได้ฉันคำที่ ๒ พอดีเหลือบไปเห็นสุนัขท้องติดสันหลัง ผอมโซ เดินโซเซเข้ามาใกล้หลวงพ่อ เพราะอดอาหารมาหลายวันจึงผอมโซ เกิดความสงสารสุนัขขึ้นมา เรานี้หรือก็อดแล้ว แต่สุนัขตัวนี้อดยิ่งกว่าเรา หลวงพ่อจึงปั้นข้าวที่เหลืออีก ๑ คำ กับกล้วยครึ่งผล อธิษฐานใจว่า “ขึ้นชื่อว่าความอดอยากเช่นนี้ ขออย่าให้มีอีกเลย”

      แล้วนำข้าวปั้นกับกล้วยให้สุนัขนั้น สุนัขกินแต่ข้าว แต่ไม่กินกล้วย ไม่ทราบว่าเจ้าไม่ กินกล้วย หลวงพ่อคิดอยากจะเอากล้วยคืนมา แต่คิดขึ้นได้ว่า ของสิ่งนั้นได้สละเป็นทานไปแล้ว เหตุใดจึงจะเอากลับคืนมาอีก ได้สละขาดไปแล้ว จะนำมาฉันอีก ก็ต้องประเคนใหม่ ในที่นั้นไม่มีใคร จึงหาคนประเคนไม่ได้ หลวงพ่ออดต่ออีก ๑ วัน

      รุ่งขึ้นออกไปบิณฑบาตใหม่ด้วยร่างกายที่อ่อนเปียก เพราะไม่ได้ฉันอาหาร ปรากฏว่า หลวงพ่อได้อาหารมากมาย ได้นำอาหารเหล่านั้นมาแบ่งแก่เพื่อนภิกษุ จึงตั้งใจไว้ว่า “ตัวเราเมื่อมีกำลังพอเมื่อไร จะจัดตั้งโรงครัวประกอบอาหารเลี้ยงพระเณรโดยไม่ต้องให้ลำบาก เป็นการเสียเวลาในการศึกษาเล่าเรียน”

      เมื่อหลวงพ่อได้ไปอยู่วัดปากน้ำ ก็ได้ตั้งโรงครัวทันที วิธีทำของหลวงพ่อน่าสนใจมาก คือ ท่านเอาข้าวสารมาจากบ้านของท่านก่อน ต่อมามีคนศรัทธาในวิธีของหลวงพ่อ จึงมาช่วย รับเป็นเจ้าภาพ

การอุทิศชีวิตยอมตายครั้งที่ ๒

     เป็นเหตุการณ์ที่หลวงพ่ออยู่วัดโพธิ์ แต่ได้ไปจำพรรษาอยู่วัดบางคูเวียง (วัดโบสถ์บน จังหวัดนนทบุรี) ชั่วคราว ณ ที่วัดโบสถ์บน หรือวัดบางคูเวียงนี้ หลวงพ่อได้อุทิศชีวิตยอมตายเพื่อขอเห็นธรรมตามที่กล่าวมาแล้ว

     ฉะนั้น หลวงพ่อมีประวัติว่า ขอยอมตาย ๒ ครั้ง

     เป็นเรื่องแปลกหูแปลกตาและแปลกใจแก่เราผู้ศึกษา เพราะเราไม่เคยเห็นเกจิอาจารย์ดังๆ ที่ไหนมีประวัติเหมือนหลวงพ่อวัดปากน้ำ

     หากวิเคราะห์เจาะลึกหลวงพ่อวัดปากน้ำไปทีละเรื่องแล้ว จะพบว่าหลวงพ่อไม่มีอะไรเป็นของตนเองเลย ไม่มีเงิน ไม่มีรถยนต์ และไม่มีอะไรทั้งนั้น แม้กุฏิสำหรับจำวัด ก็คือ ที่สำหรับ นั่งภาวนาเพราะวันหนึ่งทำภาวนาตลอด เหลือเวลาไว้จำวัด เพียง ๒ ชั่วโมง

     การศึกษาประวัติของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ก็คือการศึกษาผลแห่งการยอมตาย วิชาธรรมกายก็คือผลแห่งการยอมตายของหลวงพ่อ เรานิยมหลวงพ่อว่ามีลาภมาก เลี้ยงพระเณรได้เป็นร้อยเป็นพัน ก็คือ ผลของการยอมตายอดตายของหลวงพ่อ ในประเทศไทยนี้ เห็นก็มีแต่หลวงพ่อวัดปากน้ำเท่านั้น ที่สามารถเลี้ยงพระเณรได้เป็นพัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ คุณแฉล้ม อุศุภรัตน์ แจ้งว่า วัดปากน้ำมีจำนวนพระเณร ดังนี้ พระ ๓๖๐ รูป สามเณร ๓๖๐ รูป อุบาสิกา จำนวนร้อยเศษ รวมทั้งสิ้น ๙๐๐ เศษ ไม่รวมเด็กวัด หากรวมเด็กวัดด้วย คงจะถึง ๑,๕๐๐

      หลวงพ่อมาอยู่วัดโพธิ์ ตั้งแต่บวชใหม่ๆ คือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ และไปดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ แสดงว่าหลวงพ่ออยู่วัดโพธิ์ถึง ๙ ปี

      สำนักวัดโพธิ์นี้ ทำให้หลวงพ่อมีวุฒิการศึกษาปริยัติธรรมคือ พัดเทียบเปรียญ วุฒิทางวิปัสสนาธุระคือ ธรรมกายศาสตร์

       ระหว่างที่อยู่วัดโพธิ์นั้น หลวงพ่อมักถือโอกาสไปจำพรรษาต่างจังหวัด เช่น ออกธุดงค์ ในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เลยถือโอกาสจำพรรษาที่วัดพระศรีมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ออกจากวัดพระศรีมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี มาอยู่วัดสองพี่น้อง (วัดที่หลวงพ่อบวช) อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ออกจากวัดสองพี่น้อง กลับมาอยู่วัดโพธิ์ และออกจากวัดโพธิ์ไปจำพรรษาที่วัดบางคูเวียง คลองบางกอกน้อย จังหวัดนนทบุรี

       ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน หลวงพ่อก็จะกลับพำนักเดิม คือ วัดโพธิ์ จากนั้นจะไปไหนอีก ค่อยว่ากันใหม่

๓. วัดชัยพฤกษ์มาลา จังหวัดธนบุรี

      วัดนี้มีประวัติว่า หลวงพ่อเคยอยู่มา แต่ยังค้นคว้าข้อมูลอะไรไม่ได้ จึงไม่มีรายละเอียดมากล่าว

๔. วัดโบสถ์ จังหวัดนนทบุรี

      วัดนี้เป็นวัดที่หลวงพ่อเคยมาจำพรรษา และได้บรรลุ “ธรรมกาย” ที่วัดนี้หลวงพ่อมาอยู่แบบชั่วคราวเท่านั้น วัดโบสถ์เดิมเรียก วัดบางคูเวียง ต่อมาเรียก วัดโบสถ์ และปัจจุบันเรียก วัดโบสถ์บน ต้องถือว่าเป็นวัดสำคัญมาก เพราะหลวงพ่อมาบรรลุวิชาธรรมกายบัณฑิตที่นี่ และเพราะวิชาธรรมกายนี้เองทำให้หลวงพ่อมีอภินิหารอย่างทันทีทันใด ในชั้นต้นโจษขานกัน ทั่วประเทศ ต่อมาอีกไม่นานชื่อเสียงของหลวงพ่อไปถึงต่างประเทศ ครั้นหลวงพ่อตายไป กลับมีชื่อเสียงลือไปทั่วโลก มหาบุรุษมักโด่งดังตอนตาย เราเคยอ่านตำรามหาบุรุษที่หลวงวิจิตรวาทการเขียน มักพบว่า มหาบุรุษมามีชื่อเสียงตอนตาย หลวงพ่อของเราก็อยู่ในสูตรนี้เหมือนกัน

      เมื่อปี ๒๕๓๐ ข้าพเจ้ามีประวัติว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำมาใช้ให้ไปปราบมารที่อินเดีย แต่แรกไม่เชื่อญาณทัสสนะตัวเอง อยู่มาอีกไม่กี่เดือนข้าพเจ้าต้องไปอินเดียโดยเหตุบังเอิญ ต้องไปทำวิชาปราบมารที่อินเดียตามที่หลวงพ่อสั่ง ดังได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ปราบมาร” แล้ว การไป ปราบมารคราวนั้น เกิดความคิดว่า พระพุทธเจ้าทรงลำบากมาก ประสูติที่หนึ่ง ไปตรัสรู้ธรรมอีกที่หนึ่ง ไปแสดงธรรมอีกที่หนึ่ง และปรินิพพานอีกที่หนึ่ง มานึกถึงหลวงพ่อก็มีลักษณะอย่างนั้นเหมือนกัน เกิดที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มาบรรลุธรรมที่จังหวัดนนทบุรี ไปแสดงธรรมที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม และมรณภาพที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อีกเรื่องหนึ่งของมหาบุรุษก็คือ ไม่มีเวลาหลับนอน ไม่มีเวลาพักผ่อน อุบาสิกาถนอม อาสไวย์ ศิษย์เอกวิชาธรรมกายของหลวงพ่อ เล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อไม่มีเวลานอนเลย ตลอดวันตลอดคืนหลับตาเจริญภาวนาค้นคว้าวิชาธรรมกายตลอด หากถึงเวรค้นคว้าวิชาที่ไว้วางใจ มักจะสั่งวิชาและขอนอน ๒ ชั่วโมง พอหลวงพ่อสั่งขาดคำ หลวงพ่อกรนทันที แปลว่า หลวงพ่อหลับทันที แม่ชีถนอมท่านเล่าอย่างนั้น ส่วนพวกเราเวลาอยากหลับกลับไม่หลับ ง่ายอย่างหลวงพ่อ แม่ชีเล่าต่อว่าระวังไว้ก็แล้วกัน พอหมดเสียงกรน หลวงพ่อจะตื่นทันที และจะซักถามความรู้วิชาธรรมกายแก่เวรนั้นๆ ทันทีเหมือนกัน เตรียมตัวตอบให้ดีก็แล้วกัน ใครตอบความรู้ไม่ถูก หลวงพ่อท่านจะตำหนิ กลัวถูกหลวงพ่อต่อว่ากันทั้งนั้น จึงต้องตั้งใจเข้าธรรมกายไปค้นความรู้มารายงานหลวงพ่อให้ได้ เวรหนึ่งมีสมาชิก ๒๐-๓๐ คน ไม่มีใคร ถือโอกาสที่หลวงพ่อจำวัด แล้วลืมตาออกมาคุยกัน มีแต่ต่างคนต่างเข้าสมาธิค้นคว้าวิชา เพื่อเตรียมไว้รายงานหลวงพ่อกันทุกท่าน

๕. วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี

     หลวงพ่อมาอยู่วัดปากน้ำ อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ โดยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ (พระอารามหลวง) และมรณภาพที่วัดปากน้ำ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ รวมเวลาที่หลวงพ่ออยู่วัดปากน้ำถึง ๔๓ พรรษา วัดปากน้ำเป็นสมรภูมิสำคัญ ที่หลวงพ่อฟื้นฟูการศึกษาปริยัติธรรมและฟื้นฟูวิปัสสนาธุระ มีเนื้อหาสาระควรแก่การศึกษา ดังต่อไปนี้

     สมเด็จพระสังฆราชป๋า ทรงกล่าวถึง การมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำของหลวงพ่อมีเกียรติมาก คือ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดเรือยนต์หลวงมาส่งหลวงพ่อ ในฐานะที่วัดปากน้ำเป็นพระอารามหลวง มีพระอนุจรติดตาม ๔ รูป กรมจัดสมณบริขารถวายเจ้าอาวาส จัดนิตยภัตต์ถวาย ๔ เดือนๆ ละ ๓๐ บาท ถวายนิตยภัตต์แก่พระอนุจร ๔ รูปๆ ละ ๒๐ บาท เจ้าคณะอำเภอคือ เจ้าคุณพระศากยบุตติยวงศ์ พร้อมด้วยพระเถระผู้ใหญ่ในอำเภอ และคฤหัสถ์ชายหญิง ได้มาส่งหลวงพ่อถึงวัดปากน้ำ ขณะนั้นหลวงพ่อเป็นฐานานุกรมของพระศากยบุตติยวงศ์ในตำแหน่งสมุห์

     กล่าวถึงสภาพวัดปากน้ำในสมัยนั้น มีสภาพกึ่งวัดร้าง เป็นความหนักใจของหลวงพ่อ ที่จะต้องเร่งรัดให้วัดมีสภาพสมฐานะพระอารามหลวง และยังกล่าวกันว่า สมัยนั้นเป็นสมัยอุทกังเซ (คือชาวบ้านกินน้ำแล้วเมาเข้าวัด อุทกัง แปลว่าน้ำ เซคือ เดินโซเซ)

     ประเด็นสำคัญที่เราต้องการทราบ ก็คือ หลวงพ่อมีผลงานอะไรบ้างเมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

 

 

บางส่วนจากหนังสือ อภินิหารหลวงพ่อวัดปากน้ำ หน้า 18 : อ่านเพิ่มเติม