หลวงพ่อวัดปากน้ำ

หลวงพ่อศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติคู่กันไป

      สำหรับด้านปริยัติ ได้แก่การเรียนทางวิชาการของสงฆ์ ซึ่งแบ่งออกเป็นฝ่ายนักธรรม และฝ่ายบาลี ถ้าใครได้ น.ธ.เอก ถือว่าจบหลักสูตรนักธรรม และถ้าใครสอบได้เปรียญ ๙ ถือว่า จบหลักสูตรเปรียญเอก

     แต่ยุคของหลวงพ่อ แทบจะเรียนอะไรไม่ได้เลย เพราะงานการศึกษาของสงฆ์ยังไม่เจริญ วัดต่างๆ ยังไม่อาจเปิดสำนักเรียน มีเปิดสำนักเรียนก็ได้แก่วัดใหญ่ๆ เช่นวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) วัดมหาธาตุ วัดอรุณราชวราราม วัดสุทัศน์ เป็นต้น

     พระสงฆ์วัดต่างๆ จำต้องเดินไปเรียนจากวัดสำนักเหล่านั้น เช้าไปเรียนที่วัดหนึ่ง เวลาบ่ายต้องไปเรียนที่อีกวัดหนึ่ง ตอนเย็นต้องไปเรียนอีกวัดหนึ่ง

     พูดถึงตำรา ไม่ใช่หนังสืออย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ เป็นสมุดข่อยเล่มหนา เขียนเป็น ภาษาขอมก็มี เป็นภาษามคธก็มี ภิกษุสามเณรจำต้องแบกสมุดข่อยไปเรียน นับว่าเป็นภาระมาก หากนึกถึงการไปเรียนของพระสงฆ์สมัยนั้น คงเหมือนกับที่เราเห็นพระท่านแบกกลดในปัจจุบันนี้


การศึกษาด้านปริยัติของหลวงพ่อ

     สมเด็จพระสังฆราชป๋า (ปุ่น ปุณณสิริมหาเถร วัดพระเชตุพนฯ) สมัยมีสมณศักดิ์เป็น “สมเด็จพระวันรัต” ทรงกล่าวถึงการศึกษาด้านปริยัติของหลวงพ่อไว้ว่า การศึกษายุคของหลวงพ่อเป็นสมัยจังหวัดธนบุรี มีการคมนาคมเพียงมีเรือจ้างและเรือยนต์ ยังไม่มีถนน ยังไม่ได้สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ

     การเรียนบาลีสมัยนั้น ต้องท่องสูตรก่อน แล้วจึงมาเรียนมูลและสนธิ ต่อมาจึงมาเรียน นาม สมาส ตัทธิต อาขยาต กิตก์ จากนั้น จึงมาเรียนคัมภีร์ธรรมบท จากนั้นมาเรียนมงคลทีปนี และสารสังคหะ หลวงพ่อเรียนตามวิธีนี้

     กล่าวถึงความอุตสาหะของหลวงพ่อ แบกตำราไปมาก เช้าไปเรียนที่สำนักของวัดหนึ่ง กลางวันไปอีกสำนักวัดหนึ่ง และตอนเย็นไปอีกสำนักวัดหนึ่ง หลวงพ่ออยู่วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพน ฯ) วันหนึ่งจะต้องออกจากวัดโพธิ์ไปวัดอื่นถึง ๓ วัด เพียงแต่เดินทาง ก็มือเท้าอ่อนแล้ว ยังจะต้องเรียนกับครูเขาอีก เรามานะพยายามไหวหรือ

     ความเพียรพยายามของหลวงพ่อเป็นที่ประทับใจของญาติโยมถึงกับจัดอาหารมาถวาย เพื่อสงเคราะห์การศึกษาปริยัติของหลวงพ่อให้เกิดความสบายขึ้นบ้าง แม่ค้าคนหนึ่งชื่อ “นวม” ท่านนี้จัดอาหารถวายหลวงพ่อเป็นประจำ

     ชีวิตของหลวงพ่อ เมื่อเรียนปริยัติธรรมจบลงแล้ว ก็จาริกไปอยู่ที่อื่นตามความต้องการของทางสงฆ์ คือ หลวงพ่อได้ไปอยู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ หลวงพ่อเกิดเรืองนามขึ้นมา แต่แม่ค้า “นวม” สู่ความชราทุพพลภาพ ขาดผู้อุปการะ หลวงพ่อทราบเรื่องเข้า จึงรับตัวแม่ค้านวมไปอยู่ วัดปากน้ำ ให้การอุปการะทุกอย่าง และเมื่อสิ้นชีวิตลง หลวงพ่อจัดฌาปนกิจศพให้ด้วย หลวงพ่อเล่าว่า ชีวิตเราเมื่อเริ่มศึกษา แม่ค้านวมได้ให้การอุปการะ ครั้นแม่ค้านวมยากจน เรากลับเป็นผู้ให้การอุปถัมภ์ “คือที่สุดต่อที่สุดมาเจอกัน” เป็นมหากุศลยากที่จะหาเหตุการณ์อย่างนี้ หลวงพ่อท่านมักเล่าด้วยความชอบใจ

     การศึกษาด้านปริยัติธรรมหรือคันถธุระของหลวงพ่อ ขอจบแค่นี้

     หลวงพ่อได้รับพระราชทานพัดยศเทียบเปรียญ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔

     ไม่ทราบว่าเพราะอะไร หลวงพ่อไม่สอบสนามหลวง คลาดกันไปก็คลาดกันมา

     แต่ความรู้ทางบาลีของหลวงพ่อไม่มีติดขัด จำได้หมด แปลได้คล่อง ตีความหมายของศัพท์ได้แม่นยำจริง ๆ คนฟังเขาเข้าใจ ถ้อยคำบาลีที่หลวงพ่ออธิบาย เมื่อคนฟังรู้เรื่อง เขาก็ชอบหลวงพ่อ ถ้าเทศน์ไม่รู้เรื่องเขาจะชอบได้อย่างไร เคยฟังหลวงพ่อเทศน์ มีอยู่คราวหนึ่ง อธิบาย ศัพท์บาลี หลวงพ่อบอกว่า คำๆ หนึ่งมีความหมายเป็นร้อย จะทราบว่ากรณีเช่นนั้น ศัพท์คำนี้มีความหมายอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติธรรมกายให้ได้ จึงจะทราบว่าพระพุทธองค์ทรงหมายเอาอะไร

     เคยนำหนังสือเทศน์ของหลวงพ่อ ถวายแก่พระเปรียญ ต่างชอบใจในการอธิบายศัพท์ของหลวงพ่อ ยกศัพท์ขึ้นก่อน แล้วอธิบาย ต่อไปก็ให้ความหมาย ให้ความหมายเสร็จแล้วโยงเข้าเรื่องที่เทศน์ เทศน์ของหลวงพ่อจึงแจ่มแจ้ง เกิดความเข้าใจ ฟังแล้วรู้เรื่อง เรื่องเทศน์ของหลวงพ่อ ยุติไว้แค่นี้ก่อน

     เรื่องการศึกษาด้านปริยัติธรรมของหลวงพ่อได้จบลงแล้ว

     แต่ช่วงเวลาที่หลวงพ่อกำลังศึกษาอยู่ที่วัดโพธิ์ มีประวัติน่าสนใจเรื่องหนึ่ง ผู้เขียนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

     เพราะความคิดของโพธิสัตว์ย่อมไม่เหมือนใคร แม้ทำอะไรก็ไม่เหมือนใครเหมือนกัน

     เรื่องมีอยู่ว่า ระหว่างที่หลวงพ่อกำลังศึกษาปริยัติธรรมอยู่ที่วัดโพธิ์นั้น ได้ใช้กุฏิของท่านตั้งเป็นสำนักเรียนบาลี โดยมอบหมายให้พระมหาปิ วสุตตมะ (ป.ธ. ๕) เป็นผู้สอน สมัยนั้นการตั้งสำนักเรียนในวัดโพธิ์มีหลายสำนัก ใครมีกำลังก็ตั้งได้ กุฏิของหลวงพ่อเลยกลายเป็นสำนักเรียนไป ต่อมาทางการสงฆ์เปลี่ยนหลักสูตรบาลี สำนักเรียนที่หลวงพ่อตั้งขึ้นก็เลิกไป

      เรามาพิจารณากันว่า ระหว่างนั้นพระสด จนฺทสโร ยังอยู่ในวัยหนุ่ม เป็นพระลูกวัดเล็กๆ เหตุใดจึงกล้าที่จะตั้งสำนักเรียน ครั้งกระนั้น เราทราบแล้วว่า วัดที่จะเปิดสำนักเรียนนั้น ได้แก่ วัดใหญ่ๆ เท่านั้น และระหว่างนั้น หลวงพ่อก็ยังเป็นพระนักเรียนอยู่ หลวงพ่อยังเดินเรียนอยู่ ออกจากวัดนี้ไปวัดนั้น ออกจากวัดนั้นไปวัดนี้

     นี่คือ ความเป็นนักพัฒนาการศึกษาฉายแสง

     ในสมองมีแต่จะพัฒนาการศึกษา ความคิดนี้อยู่ในสมองแต่หนุ่มแล้ว เพียงแต่รอโอกาสเท่านั้น

     โพธิสัตว์ย่อมมีความคิดไม่เหมือนใคร

     คติโบราณกล่าวว่า อย่าติพระสงฆ์ว่ายังหนุ่ม อย่าดูถูกงูพิษว่าตัวเล็ก

 

 

 

บางส่วนจากหนังสือ อภินิหารหลวงพ่อวัดปากน้ำ หน้า 9 : อ่านเพิ่มเติม